การติดตั้งอุปกรณ์การตรวจจับสึนามิลงในระบบเตือนภัยของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

A description...

 

 

 

 

 

 

 



อุปกรณ์ที่ชื่อว่าโซนาร์ไดน์ (Sonardyne) ได้ถูกทำการติดตั้งลงในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใกล้กับประเทศไซปรัส ในฐานะอุปกรณ์ชิ้นสำคัญในการตรวจจับคลื่นสึนามิ โดยความร่วมมือของบริษัทซีเอสเนต อินเตอร์เนชั่นแนล(CSNet International) และศูนย์สมุทรศาสตร์ของไซปรัส (Oceanography Center of Cyprus) ในการพัฒนาโครงการเตือนภัยสึนามิต้นแบบสำหรับประเทศไซปรัสและบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

อุปกรณ์ตรวจจับสึนามินี้ประกอบด้วยโซนาร์ไดน์จำนวนสี่ตัวสำหรับตรวจวัดความดันน้ำซึ่งจะทำงานร่วมกับซอฟท์แวร์ของโนอาร์ (NOAA) ในการส่งข้อมูลเข้าร่วมกับเครือข่ายการเตือนภัยขั้นสูงต่อไป โดยระบบการเตือนภัยสึนามิที่ติดตั้งใหม่นี้มีชื่อเรียกว่า TWERC (ย่อมาจาก Tsunami Warning and Early Response System for Cyprus) ซึ่งจะต่างจากระบบเตือนภัยสึนามิอื่น เนื่องจากลักษณะของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ถูกปิดล้อมด้วยแผ่นดิน เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวใต้น้ำที่ก่อให้เกิดขึ้นสึนามิขึ้น คลื่นสึนามิจะเคลื่อนเข้าถึงฝั่งภายในเวลาน้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง ดังนั้นระบบเตือนภัยที่รวดเร็วจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่นี้

ระบบเตือนภัย TWERC นี้ จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ตรวจจับแผ่นดินไหว ซึ่งจะทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจวัดความดันน้ำ โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะถูกจัดวางเรียงรายเป็นแนวยาวหลายร้อยกิโลเมตรอยู่ที่พื้นทะเลที่บริเวณชายฝั่งด้านทิศใต้ของไซปรัส  และสามารถส่งข้อมูลขณะเกิดขึ้นจริงให้กับศูนย์ควบคุมที่อยู่บนแผ่นดินได้ทันที โดยทาง TWERC จะออกแบบให้อุปกรณ์ตรวจจับโซนาร์ไดน์ที่ใช้วัดความดันน้ำนี้สามารถตรวจวัดสึนามิได้ตั้งแต่เริ่มก่อตัว โดยซอฟแวร์ที่ใช้จะคำนวณความดันของน้ำเปรียบเทียบกับความดันก่อนหน้าสามชั่วโมงว่ามีความเปลี่ยนแปลงความดันที่ผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าอุปกรณ์นี้อย่างน้อยสองตัวสามารถตรวจจับความดันที่เปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติไปจากที่คาดหมายไว้ อุปกรณ์ก็จะส่งสัญญาณเตือนไปตามสายสัญญาณเข้าสู่ระบบเตือนภัยอย่างรวดเร็ว โดยที่ทางสถานีที่ชายฝั่งจะได้รับสัญญาณเตือนนี้ในทันที การใช้สายสัญญาณส่งข้อมูลนั้นก็เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการดีเลย์อันเนื่องมาจากระบบสัญญาณดาวเทียมในการส่งข้อมูลจากกลางทะเล ซึ่งจะทำให้การส่งสัญญาณเตือนเป็นไปได้อย่างรวดเร็วที่สุดนั่นเอง

ดร. จอร์จิอัส จอร์จิโอ (Dr.Georgious Georgiou) ผู้อำนวยการศุนย์สมุทรศาสตร์ของไซปรัสและหัวหน้าโครงการ  TWERC กล่าวว่า “ระบบนี้ได้รวมเอาเทคโนโลยีของการสำรวจในทะเลเข้ากับประสิทธิภาพของศูนย์ภาคพื้นดิน การให้ความรู้แก่ชุมชนและการเตรียมพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ การตรวจวัดคลื่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเท่านั้น การเตือนภัยที่รวดเร็วทันเหตุการณ์ให้กับประชาชน และการที่ประชาชนรู้ว่าต้องทำอย่างไรเมื่อได้รับคำเตือนจัดเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน”

ดร.แอนดรูว์ คลาร์ก (Dr. Andrew Clark) ประธานบริษัท CSNet กล่าวว่า “ระบบเตือนภัยนี้ไม่ได้มีแค่เพื่อปกป้องชีวิตประชาชนและนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนประเทศไซปรัสเท่านั้น หากแต่ยังช่วยปกป้องประชาชนทั้งหมดซึ่งอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นตลอดแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวด้วย” 

.............................................................................

แหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก Baseline Magazine - Issue 6.

แปลและเรียบเรียง โดย อนุชา ศรีเริงหล้า นักอุตุนิยมวิทยาปฏิบัติการณ์

ตรวจทานและแก้ไข โดย ดร.วัฒนา กันบัว (ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล)