• กระดานข่าว

    เกี่ยวกับงาน

    ห้องสนทนา

    มาตราโบฟอร์ต

    เชื่อมโยง

    ทีมงาน

    พายุไต้ฝุ่น ““ลินดา”  (LINDA  9728)

    ไต้ฝุ่น “ลินดา” เป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกที่ 2  ที่ศูนย์กลางเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย และเป็นลูกสุดท้ายที่เคลื่อนเข้ามาในพื้นที่ที่กำหนด (ละติจูด 0-25 องศาเหนือ ลองจิจูด 90-120 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นบริเวณที่พายุเริ่มมีโอกาสที่จะมีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศของประเทศไทย) ในปี 2540 โดยก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ตอนล่าง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2540  ซึ่งเป็นขณะเดียวกับที่บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอ่าวไทย หย่อมความกดอากาศต่ำนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม เวลา 19.00 น. มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 8.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 115.0 องศาตะวันออก  มีทิศทางการเคลื่อนตัวทางตะวันตก จากนั้นพายุนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน เวลา 13.00 น. มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 8.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.5 องศาตะวันออก จากนั้นพายุนี้ได้เคลื่อนตัวต่อมาทางทิศตะวันตกผ่านทะเลบริเวณปลายแหลมญวนเข้าสู่อ่าวไทย  และเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนพายุนี้ได้ทวีกำลังแรงเป็นพายุไต้ฝุ่นระยะหนึ่ง  โดยเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือ  และต่อมาในคืนวันที่ 3  พฤศจิกายนขณะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งที่อำเภอทับสะแก  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเวลา 02.00 น. วันที่ 4 พฤศจิกายนขณะที่มีความเร็วลมสูงสุดรอบศูนย์กลางประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  และเคลื่อนตัวต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  เข้าสู่ประเทศพม่าเมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 4 พฤศจิกายนและลงสู่ทะเลอันดามันเมื่อเวลา 08.00 น. ของวันเดียวกัน  ซึ่งเมื่อลงสู่ทะเลอันดามันเรียกว่าพายุไซโคลน

    เมื่อพายุเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันแล้วมีทิศทางการเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือโดยในช่วงวันที่ 7-9 พฤศจิกายน  ขณะเคลื่อนตัวอยู่ในอ่าวเบงกอลศูนย์กลางพายุแทบจะไม่เคลื่อนที่อยู่บริเวณประมาณละติจูด  15.5  องศาเหนือ  ลองจิจูด  92.0  องศาตะวันออก   โดยอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นเมื่อวันที่  8 พฤศจิกายนและสลายตัวไปเมื่อวันที่ 10  พฤศจิกายนในอ่าวเบงกอล

    ไต้ฝุ่น “ลินดา”   มีผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก  ทำให้ในบริเวณอ่าวไทยมีลมแรง  ฝนตกหนัก  ทะเลมีคลื่นจัดถึงจัดมากความสูงของคลื่น 3-4 เมตร  โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันออก  และในช่วงวันที่ 3 พฤศจิกายนพายุนี้ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นขณะเป็นพายุไต้ฝุ่นความเร็วลมสูงสุดเพิ่มขึ้นถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้มีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรีและระยอง  หลังจากที่พายุเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่อำเภอทับสะแก  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  และเคลื่อนผ่านประเทศไทยและพม่าลงสู่ทะเลอันดามันแล้วในวันที่ 4 พฤศจิกายน  พื้นที่ในภาคใต้ตอนบนบริเวณตั้งแต่จังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรีขึ้นไปถึงพื้นที่ด้านตะวันตกของภาคกลางบริเวณจังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรียังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมาก  ซึ่งฝนที่ตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องหลายวัน  ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก  บริเวณประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี และกาญจนบุรี  โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีลมพัดแรงจัดจนบ้านเรือนเสียหายและต้นไม้โค่นล้มในหลายอำเภอ  ในอ่าวไทยบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกจนถึงชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีคลื่นลมแรง ทำให้เรือประมงอับปางหลายสิบลำและมีลูกเรือเสียชีวิตและสูญหายหลายคน  

    copyright.gif Copyright 2004 by Thai Marine Meteorology, All Rights Reserved.
    For More Information. Please Contact
    watt_kan@hotmail.com or watt_kan@yahoo.com