ภูมิอากาศอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ที่ตั้งและอาณาเขต

หัวหินเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของภาคใต้ บนฝั่งทะเลของอ่าวไทย ที่ละติจูด 12 องศา 35 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 99 องศา 57 ลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 231 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 911 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอชะอำและอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ทิศตะวันออก ติดต่อกับชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย

ทิศตะวันตก ติดต่อกับทิวเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า

ลักษณะภูมิประเทศ

อำเภอหัวหินตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาตะนาวศรีและอ่าวไทย มีส่วนกว้างประมาณ 60 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่ทั่วไป ทางตะวันตกซึ่งติดต่อกับสหภาพพม่าเป็นทิวเขาสูงประกอบด้วยป่าไม้ พื้นที่ค่อย ๆ ลาดต่ำลงมาทางตะวันออกเป็นป่าละเมาะเล็ก ๆ จนจรดชายฝั่งทะเล เหมาะแก่การกสิกรรมและเลี้ยงสัตว์ มีเกาะเล็กอยู่ทางทิศใต้ของเขาตะเกียบ 1 เกาะ คือเกาะสิงห์โต มีทรัพยากรธรรมชาติได้แก่ป่าไม้และแร่หินควอทซ์

ฤดูกาล

ฤดูกาลของอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พิจารณาตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทย แบ่งออกได้ดังนี้ คือ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม มีระยะประมาณ 3 เดือน คือ เมื่อฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือสิ้นสุดลงแต่อากาศไม่ร้อนมากเนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล และมีกระแสลมฝ่ายใต้พัดเข้าสู่จังหวัด ทำให้ได้รับลมเย็นและไอน้ำจากทะเลอากาศจังคลายความร้อนอบอ้าวลง เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดจะอยู่ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย แล้วเลื่อนขึ้นไปทางเหนือผ่านภาคกลางไปถึงภาคเหนือ ทำให้มีฝนตกชุกตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม โดยมีฝนตกหนักในเดือนตุลาคม

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงและมีอากาศหนาวเย็นทั่วไป ส่วนอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์อยู่ทางภาคใต้ตอนบนซึ่งมีอาณาเขตใกล้กับภาคกลาง จึงมีอากาศหนาวเย็นคล้ายกับทางภาคกลาง และมีฝนตามบริเวณชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน

ลักษณะอากาศทั่วไป

อำเภอหัวหิน อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดเวียนประจำฤดูกาล 2 ชนิด คือ พัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว เรียกว่าฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อิทธิพลของลมนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็น แต่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะทางตอนล่างของภาคจะมีฝนตกชุกมาก เนื่องจากไม่มีภูเขากั้น ทำให้ได้รับอิทธิพลจากลมที่พัดผ่านทะเลจีนใต้และอ่าวไทยอย่างเต็มที่ ส่วนอำเภอหัวหินอยู่ทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจึงพัดเข้าสู่อำเภอนี้เป็นบริเวณแคบ ทำให้มีฝนตกน้อยในช่วงฤดูหนาว อากาศส่วนใหญ่จึงคล้ายคลึงกับภาคกลางคือมีอากาศเย็นเป็นครั้งคราว และมีฝนตกชุกในช่วงต้นฤดู ส่วนมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ลมนี้จะพัดประจำในช่วงฤดูฝน และเป็นลมที่พัดผ่านมหาสมุทรอินเดียจึงทำให้ระเทศไทยมีฝนตกมาก แต่เนื่องจากอำเภอหัวหินอยู่หลังทิวเขาตะนาวศรีซึ่งปิดกั้นทางลมนี้ไว้จึงเป็นที่อับฝน มีฝนตกน้อยในช่วงฤดูฝน ฝนส่วนใหญ่จะตกมากในช่วงฤดูหนาว คือระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน

อุณหภูมิ

เนื่องจากอำเภอหัวหินอยู่ทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลักษณะอากาศจึงคล้ายคลึงกับภาคกลาง แต่เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลจึงได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นจากทะเลในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยทำให้ไม่หนาวมากในฤดูหนาว และไม่ร้อนมากในฤดูร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 23.5 องศาเซลเซียส เคยตรวจอุณหภูมิสูงสุดในฤดูร้อนได้ 37.2 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2509 แต่ในเดือนมิถุนายนซึ่งอยู่ในช่วงฤดูฝนเคยวัดอุณหภูมิได้สูงสุดในรอบปีคือวัดได้ 37.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 12 พ.ศ. 2506 อุณหภูมิต่ำสุดที่วัดได้ 13.9 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2498 และ 30 ธันวาคม 2518

ความชื้นสัมพัทธ์

ความชื้นสัมพัทธ์ตลอดทั้งปีของอำเภอหัวหินจะอยู่ในเกณฑ์สูง ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 76 % ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 88 % ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 62 % เคยตรวจความชื้นสัมพัทธ์ต่ำที่สุดได้ 26 % ในเดือนกุมภาพันธ์

ฝน

อำเภอหัวหินมีฝนตกทุกเดือนตลอดปี แต่ปริมาณฝนรวมทั้งปีอยู่ในเกณฑ์แล้งจัดเพราะภูมิประเทศของอำเภอหัวหินอยู่ในสภาพอับฝน ในฤดูมาสุมตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งอยู่ทางตอนล่างจะมีฝนตกชุก แต่อำเภอหัวหินจะมีผนตกน้อยเพราะมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือผ่านบริเวณอ่าวไทยเป็นบริเวณแคบและทิวเขาด้านตะวันออกปิดกั้นทำให้มรสุมนี้มีกำลังอ่อน ปริมาณฝนที่ตกในช่วงมรสุมนี้จึงมีปริมาณน้ำน้อย ส่วนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ฝนก็ยังมีปริมาณน้อยเพราะบริเวณด้านตะวันตกของอำเภอมีแนวเขาตะนาวศรีเป็นพืดยาวปิดกั้นกระแสลมและความชุ่มชื้นจากมรสุมนี้ไม่เต็มที่ ปริมาณฝนในช่วงนี้จึงมีน้อย จำนวนฝนรวมเฉลี่ยตลอดปีของของอำเภอหัวหินจึงอยู่ในเกณฑ์ฝนน้อย ตลอดปีเฉลี่ยประมาณ 1,031.1 มิลลิเมตร ฝนตกเฉลี่ย 120 วัน เดือนที่มีฝนตกชุกที่สุดคือ เดือนตุลาคมปริมาณในเฉลี่ยประมาณ 231.1 มิลลิเมตร และมีฝนตก 17 วัน ฝนตกสูงสุดใน 24 ชั่วโมงเคยตรวจได้ 429.2 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2512

จำนวนเมฆ

ตลอดทั้งปีจะมีจำนวนเมฆเฉลี่ยประมาณ 5 ส่วนของจำนวนเมฆ 8 ส่วนในท้องฟ้า โดยในฤดูร้อนจะมีเมฆเฉลี่ย 3 ส่วน ฤดูฝนเฉลี่ย 7 ส่วน และฤดูหนาวจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 4 ส่วน

หมอก ฟ้าหลัวและทัศนวิสัย

อำเภอหัวหินมีโอกาสเกิดหมอกได้น้อยมาก ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคมจะมีหมอกเกิดขึ้นได้ในเดือนหนึ่ง ๆ เพียง 1 – 2 เท่านั้น และวันที่มีหมอกเกิดขึ้นทัศนวิสัยจะเลวเห็นได้ไม่เกิน 1 กิโลเมตร ส่วนฟ้าหลัวจะเกิดมากระหว่างเดือนธันวาคมถึงเมษายนประมาณ 14 – 23 วัน โดยเกิดมากที่สุดในเดือนมีนาคม วันที่เกิดฟ้าหลัวทัศนวิสัยจะเห็นได้ไกลประมาณ 7 กิโลเมตร ทัศนวิสัยเฉลี่ยตลอดปีเวลา 07.00 น. จะเห็นได้ไกลประมาณ 10 กิโลเมตร และทัศนวิสัยเฉลี่ยตลอดทั้งวันประมาณ 10 กิโลเมตร

ลม

การพัดเวียนของลมในอำเภอหัวหินชัดเจนดี ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคมลมจะพัดจากทิศจะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 9 – 11 กม./ ชม. ฤดูร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ลมพัดจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 9 – 11 กม. / ชม. ส่วนในฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมลมจะพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 7 – 9 กม. / ชม. ในเดือนกันยายนและตุลาคมจะเปลี่ยนเป็นลมทิศตะวันตก ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 6 – 7 กม. / ชม. กำลังลมสูงที่สุดทีเคยตรวจได้ในฤดูต่าง ๆ มีดังนี้ ฤดูร้อนเคยตรวจสูงสุดได้ 67 กม. / ชม. เป็นลมตะวันออก ในเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูฝนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 93 กม. / ชม. เป็นลมทิศตะวันตก ในเดือนกรกฎาคม ส่วนในฤดูหนาวเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 70 กม./ ชม. เป็นลมทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเดือนพฤศจิกายน

พายุหมุน

พายุหมุนที่เคยเคลื่อนผ่านเข้ามาในบริเวณอำเภอหัวหินหายครั้งส่วนมากเป็นพายุดีเปรสชั่นกำลังอ่อน แต่บางครั้งก็เป็นพายุโซนร้อน พายุนี้ส่วนมากเกิดทางทะเลจีนใต้ และมีส่วนน้อยทีเกิดจากทางมหาสมุทรแปซิฟิก พายุนี้ได้เคลื่อนตัวเข้ามาในอ่าวไทยระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พายุหมุนที่เคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคใต้เกือบทุกครั้ง จะทำความกระทบกระเทือนให้อำเภอหัวหินด้วย คือจะทำให้มีฝนตกหนักลมกันโชกแรงและเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันขึ้น กำลังแรงของลมและคลื่นในทะเลจะทำอันตรายแก่เรือต่าง ๆ และอาคารบ้านเรือนที่อยู่ตามชายฝั่งทะเล เคยมีพายุหมุนที่ผ่านเข้ามาในบริเวณอำเภอหัวหินหลายครั้ง เช่นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2495 ชื่อพายุโซนร้อน “เวย์” พายุลูกนี้ทำให้มีฝนตกหนักใน 24 ชั่วโมงวัดจำนวนได้ 138.2 มิลลิเมตร วันที่ 15 พฤศจิกายน 2499 ทำให้มีฝนตกหนักใน 24 ชั่งโมงวัดจำนวนได้ 96.5 มิลลิเมตร วันที่ 5 ตุลาคม 2503 มีฝนตกหนักใน 24 ชั่วโมงวัดจำนวนได้ 97.0 มิลลิเมตร วันที่ 21 ตุลาคม 2511 มีพายุดีเปรสชั่นซึ่งอ่อนกำลังจากพายุโซนร้อน “เฮสเตอร์” ทำให้ฝนตกหนักใน 24 ชั่วโมงวัดจำนวนได้ 117.0 มิลลิเมตร และวันที่ 30 พฤศจิกายน 2513 มีพายุโซนร้อน “รูธ” ทำให้ฝนตกหนักใน 24 ชั่วโมงวัดจำนวนได้ 207.0 มิลลิเมตร ส่วนพายุหมุนที่มีความรุนแรงและทำความเสียหายให้แก่ภาคใต้เป็นบริเวณกว้างและอำเภอหัวหินได้รับความกระทบกระเทือนด้วยคือ พายุโซนร้อน “ฮาเรียต” พายุลูกนี้ได้เคลื่อนเข้ามาอ่าวไทยพร้อมกับทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนและเคลื่อนตัวผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และจังหวัดพังงา ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2505 ลงสู่ทะเลอันดามัน ทำความเสียหายให้เกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 935 คน บาดเจ็บ 445 คน ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 1,320 ล้านบาท นับเป็นความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย

ที่ตั้งของสถานีตรวจอากาศหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยา

สภาวะอากาศที่ได้จัดทำขึ้นนั้ได้มาจากผลการตรวจของสถานีตรวจอากาศหัวหินซึ่งได้ทำการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยาต่าง ๆ แล้วส่งรายงานผลการตรวจไปยังกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อรวบรวมและจัดทำข้อมูลในคาบ 30 ปี

สถานีตรวจอากาศหัวหินตั้งอยู่ที่ถนนเพชรเกษม ต.หัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ใกล้ทะเล อยู่ใกล้เขตการทางประจวบคีรีขันธ์ หรือที่ละติจูด 12 องศา 35 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 99 องศา 57 ลิปดาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 5 เมตร ทำการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยา วันละ 8 เวลา คือ 01.00, 04.00, 07.00, 10.00, 13.00, 16.00, 19.00 และ 22.00 น.