ภูมิอากาศจังหวัดกระบี่

ขนาดและที่ตั้ง

จังหวัดกระบี่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 946 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 4,624 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อบริเวณใกล้เคียงดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานี และพังงา

ทิศใต้ ติดต่อจังหวัดตรังและทะเลในช่องแคบมะละกา

ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราชและตรัง

ทิศตะวันตก ติดต่อมหาสมุทรอินเดียบริเวณช่องแคบมะละกา

ภูมิประเทศ

ภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขา เนินสูง ๆ ต่ำ ๆ มีที่ราบน้อยมาก ลักษณะดินทั่วไปเป็นดินเหนียวและดินร่วนที่มีการระบายน้ำดี พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การทำสวนยางพารา

ฤดูกาล

ฤดูกาลของจังหวัดกระบี่พิจารณาตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทยออกได้เป็น 3 ฤดูคือ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุม จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป เดือนมีนาคมเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม จะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยและร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้เป็นระยะ ๆ อีกด้วย จึงทำให้มีฝนตกมากตลอดฤดูฝน เดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่มีฝนตกมากที่สุด

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีลมเย็นและแห้งจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ทำให้มีอากาศเย็นทั่วไป แต่จังหวัดกระบี่อยู่ใกล้ทะเล อุณหภูมิจะลดลงเพียงเล็กน้อย อากาศจึงไม่หนาวเย็นมากนัก และตามชายฝั่งมีฝนตกทั่วไป

ลักษณะอากาศทั่วไป

เนื่องจากจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเล อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีมีค่าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และมีฝนตกชุกในฤดูฝน เพราะอยู่ทางด้านรับลม จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดียอย่างเต็มที่ ส่วนฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด เพราะอยู่ไกลจากอิทธิพลของอากาศหนาวพอสมควรและบางครั้งอาจมีฝนตกได้ เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยพาเอาฝนมาตก แต่มีปริมาณน้อยกว่าจังหวัดที่อยู่ทางด้านตะวันออกของภาคใต้

อุณหภูมิ

จังหวัดกระบี่อยู่ใกล้ทะเล ฤดูร้อนจึงไม่ร้อนมาก ส่วนฤดูหนาวไม่ถึงกับหนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 28.3ซ. อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.7ซ. อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 24.6ซ. เคยตรวจอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 37.3 ซ. เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2526 เดือนที่มีอากาศหนาวที่สุดคือเดือนธันวาคมและมกราคม เคยตรวจอุณหภูมิต่ำที่สุดได้ 20.8 ซ. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2527

ความชื้นสัมพัทธ์

จังหวัดกระบี่จะมีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูง เพราะได้รับอิทธิพลจากมรสุมทั้งสองฤดูและภูมิประเทศอยู่ใกล้ทะเลมีกระแสลมพัดผ่านตลอดเวลา ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 78 % ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 90 % ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 67 % ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำที่สุดเคยตรวจได้ 27 % ในเดือนเมษายน

ฝน

เนื่องจากจังหวัดกระบี่อยู่ทางด้านฝั่งตะวันตกของภาคใต้ซึ่งรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อย่างเต็มที่ในฤดูฝนจึงทำให้มีฝนตกมากในฤดูฝน ส่วนในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกน้อย เพราะถูกทิวเขาทางด้านตะวันออกของภาคใต้ปิดกั้นทางลมไว้ ปริมาณฝนเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 2,142.3 มิลลิเมตร ฝนตกประมาณ 147 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนกรกฎาคม มีฝนเฉลี่ย 437.9 มิลลิเมตร ฝนตกประมาณ 21 วัน ฝนสูงสุดใน 24 ชั่วโมง เคยตรวจได้ 167.8 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2527

จำนวนเมฆ

ตลอดทั้งปีจะมีจำนวนเมฆเฉลี่ยประมาณ 6 ส่วนของจำนวนเมฆในท้องฟ้า 8 ส่วน โดยในฤดูหนาวมีเมฆประมาณ 5 ส่วน ฤดูร้อนเมฆประมาณ 6 ส่วน ส่วนในฤดูฝนซึ่งมีอากาศชุ่มชื้นท้องฟ้าจะมีเมฆมากประมาณ 7 ส่วน

หมอก ฟ้าหลัว และทัศนวิสัย

จังหวัดกระบี่ไม่มีโอกาสเกิดหมอกเลย ส่วนฟ้าหลัวเกิดในระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคมประมาณ 1 - 2 วัน ในช่วงที่มีฟ้าหลัวทัศนวิสัยจะเห็นได้ไกลประมาณ 7 กิโลเมตร ทัศนวิสัยเฉลี่ยเวลา 07.00 น. ประมาณ 10 กิโลเมตร และทัศนวิสัยเฉลี่ยตลอดวันประมาณ 11 กิโลเมตร

ลม

จังหวัดกระบี่มีลมพัดผ่านประจำตลอดปีดังนี้ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมจะเป็นลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็วลมเฉลี่ย 6 - 11 กม./ชม. เดือนเมษายนถึงตุลาคมเป็นลมทิศตะวันตก ความเร็วลมเฉลี่ย 7 - 11 กม./ชม. กำลังลมสูงที่สุดที่เคยตรวจได้มีดังนี้ ฤดูหนาวเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 39 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนมกราคม ฤดูร้อนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 39 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกในเดือนเมษายน ส่วนฤดูฝนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 65 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกค่อยไปทางเหนือเล็กน้อยในเดือนมิถุนายน

พายุหมุนเขตร้อน

พายุหมุนเขตร้อนที่ผ่านบริเวณภาคใต้และทำความกระทบกระเทือนให้กับจังหวัดกระบี่ ส่วนมากเป็นพายุดีเปรสชั่นที่มีกำลังอ่อนจากทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิค จะทำให้มีฝนตกหนักและลมกระโชกแรง บางครั้งทำให้เกิดน้ำท่วมได้ กำลังของลมและคลื่นในทะเลจะทำอันตรายแก่เรือขนาดเล็กและอาคารบ้านเรือนที่อยู่ตามชายฝั่งได้ พายุที่มีความรุนแรงและทำความเสียหายให้แก่จังหวัดกระบี่และภาคใต้เป็นบริเวณกว้าง ได้แก่พายุโซนร้อน “ฮาเรียต” ซึ่งก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ใกล้ปลายแหลมญวน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2505 แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยพร้อมทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2505 ลงสู่ทะเลอันดามัน พายุนี้ได้ทำความเสียหายเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 935 คน และบาดเจ็บ 445 คน ทรัพย์สินของราชการและเอกชนเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 1,320 ล้านบาท นับเป็นความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย