ภูมิอากาศจังหวัดนครศรีธรรมราช

ขนาดและที่ตั้ง

จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างขวางใหญ่เป็นที่ 2 ของภาครองจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่ 6,355,625 ไร่ (ประมาณ 10,169 ตารางกิโลเมตร ) ประมาณร้อยละ 14.89 ของภาค ตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 8 - 9 19 เหนือ ลองจิจูด 99 15- 100 15 ตะวันออก เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้ของประเทศไทย มีฝั่งทะเลยาว 193 กิโลเมตร ระยะห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถยนต์ 832 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อบริเวณใกล้เคียงดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทิศใต้ ติดต่อจังหวัดพัทลุงและสงขลา

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย

ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดกระบี่และตรัง

ภูมิประเทศ

จังหวัดนครศรีธรรมราชมีลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยป่าเขา บริเวณภูเขามีแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย และที่ราบชายฝั่งทะเลแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ

- บริเวณเทือกเขา ซึ่งจะอยู่ตอนกลางและตะวันตกของจังหวัดจากเหนือจรดใต้ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือด้านตะวันตกและตะวันออก เทือกเขาที่แบ่งนี้ได้แก่ เทือกเขานครศรีธรรมราชและเทือกเขาบรรทัด บริเวณเทือกเขาเป็นแหล่งต้นน้ำเกือบทุกสาขาของจังหวัด เป็นป่าที่อุดม มีการปลูกยางพารา กาแฟ และสวนผลไม้ต่าง ๆ

- บริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออกมีอาณาเขตตั้งแต่บริเวณเทือกเขาไปทางตะวันออกจนถึงฝั่งทะเลอ่าวไทยตลอดตามแนวยาวเหนือ – ใต้ เป็นบริเวณกว้างขวางมาก มีแม่น้ำลำธารผ่านหลายสาย ลักษณะดินเป็นดินที่สมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ปลูกข้าว ยางพาราและสวนผลไม้

- บริเวณที่ราบตะวันตกเป็นที่ราบเชิงเขาและที่ราบหุบเขา เป็นบริเวณที่ปลูกยางพารามากที่สุด มีการปลูกข้าวและสวนผลไม้บ้างเป็นตอน ๆ

ฤดูกาล

ฤดูกาลของจังหวัดนครศรีธรรมราชแบ่งตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทยออกได้เป็น 3 ฤดู คือ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูมรสุม หลังจากสิ้นสุดฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้วอากาศจะเริ่มร้อนและมีอากาศร้อนจัดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่ไม่ร้อนมากนักเนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำจากทะเลทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้มีฝนตกทั่วไปและในช่วงฤดูฝนยังมีร่องความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้เป็นระยะ ๆ อีกด้วย จึงทำให้มีฝนตกมากและเนื่องจากเป็นจังหวัดที่อยู่ด้านตะวันออกของภาคใต้จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยอย่างเต็มที่ ทำให้มีฝนตกมากในช่วงฤดูหนาวคือระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมอีกช่วงหนึ่งจึงนับว่าจังหวัดนี้มีฤดูฝนที่ยาวนาน

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์อยู่ในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากจังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่ทางด้านตะวันออกของภาคใต้จึงมีฝนตกชุกในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม อุณหภูมิจึงลดลงเล็กน้อยเป็นครั้งคราวและอากาศจึงไม่สู้หนาวเย็นมากนัก

ลักษณะอากาศทั่วไป

จังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นลมเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไปมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง แต่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปกลับมีฝนตกชุกเพราะมรสุมนี้พัดผ่านอ่าวไทย อากาศจึงไม่หนาวเย็นดังเช่นภาคอื่น ๆ ที่อยู่ทางตอนบนของประเทศ และจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกได้รับอิทธิพลของลมนี้เต็มที่จึงมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ดีมาก และมีอากาศเย็นเป็นครั้งคราว ลมมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงพาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีด้านตะวันตกปิดกั้นกระแสลมไว้ ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและจังหวัดนครศรีธรรมราชมีฝนน้อยกว่าภมคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลม

อุณหภูมิ

เนื่องจังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลด้านตะวันออกได้รับอิทธิพลจาก ลมมรสุมออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยอย่างเต็มที่ ทำให้ได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นมาก อุณหภูมิเฉลี่ยจึงไม่สูงมาก และอากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อน อากาศจะอบอุ่นในช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูหนาวอากาศจะเย็นได้ในบางครั้ง อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27.5ซ. อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.8ซ. อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.9ซ. เคยตรวจอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 38.0 ซ. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2511 และเคยตรวจอุณหภูมิต่ำที่สุดได้ 17.1 ซ. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2498

ความชื้นสัมพัทธ์

ความชื้นสัมพัทธ์สัมพันธ์กับมวลอากาศและอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ ตลอดทั้งปีจังหวัดนครศรีธรรมราชจะมีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมทั้งสองฤดูคือมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ มรสุมทั้งสองนี้ก่อนจะพัดเข้าสู่บริเวณจังหวัดได้ผ่านทะเลและมหาสมุทรจึงได้พัดเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาด้วย ทำให้บริเวณจังหวัดมีความชุ่มชื้นและความชื้นสัมพัทธ์สูงเป็นเวลานาน ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 81 % ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 95 % ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 62 % เคยตรวจความชื้นสัมพัทธ์ต่ำที่สุดเคยตรวจได้ 27 % ในเดือนสิงหาคม

ฝน

เนื่องจากจังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่ทางของภาคใต้ฝั่งตะวันออกและจัดเป็นจังหวัดที่มีฝนตลอดทั้งปี ในฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกชุกมากกว่าฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เพราะไม่มีภูเขาสูงปิดกั้นจึงได้รับกระแสลมจากมรสุมนี้เต็มที่ ทำให้มีฝนตกชุกโดยเฉพาะเดือนตุลาคม พฤศจิกายนและธันวาคม ส่วนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีฝนตกน้อยกว่าฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะภูมิประเทศมีแนวเขาตะนาวศรีเป็นเทือกยาวปิดกั้นทำให้ได้รับกระแสลมจากมรสุมนี้ไม่เต็มที่ ปริมาณฝนเฉลี่ยของจังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ปริมาณฝนเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 2,42904 มิลลิเมตร มีฝนตกเฉลี่ย 175 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน มีฝนเฉลี่ย 609.7 มิลลิเมตร ฝนตกประมาณ 23 วัน ฝนสูงสุดใน 24 ชั่วโมง เคยตรวจได้ 433.3 มิลลิเมตร ในวันที่ 5 มกราคม 2518

จำนวนเมฆ

ตลอดทั้งปีจะมีจำนวนเมฆเฉลี่ยประมาณ 6 ส่วนของจำนวนเมฆในท้องฟ้า 8 ส่วน โดยในฤดูร้อนเมฆประมาณ 5 ส่วน ฤดูฝนจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 7 ส่วน ส่วนในฤดูหนาวจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 6 ส่วน

หมอก ฟ้าหลัว และทัศนวิสัย

โดยเฉลี่ยแล้วจังหวัดนครศรีธรรมราชมีโอกาสเกิดหมอกได้เกือบทุกเดือนตลอดปีแต่เดือนที่เกิดหมอกเกิดได้มากที่สุด คือ เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายนและกันยายน เฉลี่ยในเดือนหนึ่งประมาณ 3 - 4 วัน ในวันที่เกิดหมอกทัศนวิสัยจะเลวเห็นได้ไม่เกิน 1 กิโลเมตร ส่วนฟ้าหลัวก็เช่นเดียวกันโดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดได้ทุกเดือนตลอดปี แต่ช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนจะมีฟ้าหลัวเกิดมากที่สุดประมาณ 17 – 25 วัน โดยเกิดมากที่สุดในเดือนมีนาคม วันที่มีฟ้าหลัวทัศนวิสัยจะเห็นได้ไกลประมาณ 3 - 4 กิโลเมตร ทัศนวิสัยเฉลี่ยเวลา 07.00 น. จะเห็นได้ไกลประมาณ 6 กิโลเมตร และทัศนวิสัยเฉลี่ยตลอดวันประมาณ 8 กิโลเมตร

ลม

ระบบหมุนเวียนของลมในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีความชัดเจนดี เดือนตุลาคมถึงธันวาคมจะเป็นลมทิศเหนือ ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 6 - 9 กม./ชม. เดือนมกราคมถึงเมษายนจะเป็นลมทิศตะวันออก ความเร็วลมเฉลี่ย 7 - 9 กม./ชม. และเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนจะเป็นลมทิศตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 7 – 9 กม./ชม. กำลังลมสูงสุดในแต่ละฤดูมีดังนี้ ฤดูร้อนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 74 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเดือนเมษายน ฤดูฝนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 102 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกค่อนไปทางใต้เล็กน้อยในเดือนสิงหาคม ส่วนในฤดูหนาวเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 74 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกในเดือนมกราคม

พายุหมุนเขตร้อน

พายุหมุนเขตร้อนที่ผ่านบริเวณภาคใต้และทำความกระทบกระเทือนให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนมากเป็นพายุดีเปรสชั่นที่มีกำลังอ่อน พายุนี้ส่วนมากจะเกิดจากทะเลจีนใต้และมีส่วนน้อยที่เกิดจากมหาสมุทรแปซิฟิคเคลื่อนตัวเข้ามาในอ่าวไทยระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พายุดีเปรสชั่นหรือพายุโซนร้อนที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคใต้เกือบทุกครั้งจะทำความกระทบกระเทือนให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย จะทำให้ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงและเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันขึ้นได้ กำลังแรงของลมและคลื่นในทะเลจะทำอันตรายแก่เรือในทะเล และอาคารบ้านเรือนที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลได้ พายุหมุนที่มีความรุนแรงและทำความเสียหายแก่ภาคใต้เป็นบริเวณกว้างและจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ผ่านมาได้แก่พายุโซนร้อน “ฮาเรียต” ซึ่งก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ใกล้ปลายแหลมญวน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2505 แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยพร้อมทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2505 ลงสู่ทะเลอันดามัน พายุนี้ได้ทำความเสียหายเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 935 คน และบาดเจ็บ 445 คน ทรัพย์สินของราชการและเอกชนเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 1,320 ล้านบาท นับเป็นความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย พายุโซนร้อนลูกนี้ได้เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2505 วัดความเร็วลมได้ 93 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศเหนือ วัดปริมาณฝนใน 24 ชั่วโมงได้ 123.6 มิลลิเมตร และมีพายุดีเปรสชั่นที่ผ่านและทำความกระทบกระเทือนให้แก่จังหวัดนครศรีธรรมราชได้แก่พายุดีเปรสชั่น เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2501 ปริมาณฝนใน 24 ชั่วโมงได้ 206.4 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2505 วัดปริมาณฝนใน 24 ชั่วโมงได้ 119.5 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2509 วัดปริมาณฝนใน 24 ชั่วโมงได้ 109.5 มิลลิเมตร และเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2511 วัดปริมาณฝนใน 24 ชั่วโมง ได้ 77.8 มิลลิเมตร

ที่ตั้งของสถานีตรวจอากาศนครศรีธรรมราชและการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยา

สภาวะอากาศที่ได้จัดทำขึ้นนั้ได้มาจากผลการตรวจของสถานีตรวจอากาศนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ทำการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยาต่าง ๆ แล้วส่งรายงานผลการตรวจไปยังกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อรวบรวมและจัดทำข้อมูลในคาบ 30 ปี

สถานีตรวจอากาศหัวหินตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ต.ป่าพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ใกล้มณฑลทหารบกที่ 5 หรือที่ละติจูด 08 28 เหนือ ลองจิจูด 99 58 ตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเล 7 เมตร ทำการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยา วันละ 8 เวลา คือ 01.00, 07.00, 10.00, 13.00, 16.00 และ 19.00 น.