ภูมิอากาศจังหวัดนราธิวาส

ที่ตั้งและอาณาเขต

จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลด้านตะวันออก ตอนใต้สุดของประเทศไทย ที่ละติจูด 06 องศา 25 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 101 องศา 49 ลิปดาตะวันออก ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถยนต์ประมาณ 1,473 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 4,227.75 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตใกล้เคียงดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดปัตตานีและอ่าวไทย

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทยและประเทศมาเลเซีย

ทิศใต้ ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย มีความยาว 115 กิโลเมตร

ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดยะลา

ภูมิประเทศทั่วไป

ภูมิประเทศของจังหวัดนราธิวาสเป็นที่ราบประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนั้นเป็นป่าและภูเขา ที่ราบส่วนใหญ่อยู่ติดกับอ่าวไทยและแม่น้ำสุไหงโกลก มีภูเขาหนาแน่นตรงด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดติดต่อกับเทือกเขาสันกาลาคีรีซึ่งเป็นเทือกเขากั้นพรมแดนไทยกับมาเลเซีย จังหวัดนราธิวาสมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 59 กม. มีภูเขาที่สำคัญคือเทือกเขาสันกาลาคีรี อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดภูเขาบอสินยอ อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด และเทือกเขาบูโด อยู่ทางตอนเหนือและตอนกลางของจังหวัด แม่น้ำที่สำคัญมีแม่น้ำบางนรา แม่น้ำสุไหงโกลก และแม่น้ำสายบุรี

ฤดูกาล

ฤดูกาลของจังหวัดนราธิวาสแบ่งตามลักษณะของลมฟ้าอากาศของประเทศไทยออกได้เป็น 3 ฤดู คือ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่องว่างของฤดูมรสุม หลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาวแล้วอากาศจะเริ่มร้อนและมีอากาศร้อนจัดที่สุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่ไม่ร้อนมากนัก เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมประเทศไทยทำให้มีฝนตกทั่วไป และในช่วงฤดูฝนยังมีร่องความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้เป็นระยะ ๆ อีกด้วย จึงทำให้มีฝนตกมาก และเนื่องจากเป็นจังหวัดที่อยู่ทางด้านตะวันออกของภาคใต้ จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย ทำให้จังหวัดนี้มีฝนตกมากในช่วงฤดูหนาว คือระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมอีกช่วงหนึ่งด้วย จึงนับว่าเป็นจังหวัดที่มีฤดูฝนอันยาวนาน

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากจังหวัดนราธิวาสตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเลทางตะวันออกของภาคใต้ อุณหภูมิจึงไม่ลดลงมากอากาศจึงไม่หนาวเย็นเหมือนในประเทศไทยตอนบน นอกจากนี้ลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ได้นำพาความชุ่มชื้นเข้ามา ทำให้มีฝนตกชุกและมีปริมาณมากโดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม

ลักษณะอากาศทั่วไป

จังหวัดนราธิวาสอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม 2 ชนิดคือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีลมพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นลมเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดผนอ่าวไทยเข้าปกคลุมจังหวัดนราธิวาส ทำให้ตอนบนตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไปมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งทั่วไป แต่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป มีฝนตกชุกเพราะลมมรสุมนี่พัดผ่านอ่าวไทย จึงทำให้มีฝนตกทั่วไปตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป อากาศจึงไม่หนาวเย็นดังเช่นภาคอื่น ๆ ที่อยู่ทางตอนบนของประเทศ และจังหวัดนราธิวาสซึ่งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกได้รับอิทธิพลของลมนี้เต็มที่ จึงมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ดีมาก และมีอากาศหนาวเย็นเป็นครั้งคราว ลมมรสุมอีกชนิดคือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงพาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีด้านตะวันตกซึ่งปิดกั้นกระแสลมไว้ ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและจังหวัดนราธิวาสมีฝนตกน้อยกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลม

อุณหภูมิ

เนื่องจากจังหวัดนราธิวาสตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้ จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดจากมหาสมุทรอินเดีย และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพัดผ่านอ่าวไทย ทำให้ได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นมาก อุณหภูมิเฉลี่ยจึงไม่สูงมาก อากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อน และอบอุ่นในช่วงฤดูฝน ส่วนในฤดูหนาวจะมีอากาศเย็นเป็นบางครั้ง อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27.3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 23.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.3 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดส่วนมากอยู่ในเดือนเมษายน แต่มีบางปีที่อากาศร้อนที่สุดอยู่ในเดือนพฤษภาคม เคยตรวจอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 39.0 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2526 และตรวจอุณหภูมิต่ำสุดได้ 17.1 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2508

ความชื้นสัมพัทธ์

ความชื้นสัมพัทธ์สัมพันธ์กับมวลอากาศและทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ ตลอดทั้งปีของจังหวัดนราธิวาสจะมีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมทั้งสองฤดูคือ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มรสุมทั้งสองนี้ก่อนที่จะพัดเข้าสู่บริเวณจังหวัด ได้พัดผ่านทะเลและมหาสมุทร จึงพาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาด้วย ทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์สูง เฉลี่ยตลอดทั้งปีมีค่าประมาณ 80 % โดยมีความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 95 % ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 68 % เคยตรวจความชื้นสัมพัทธ์ต่ำที่สุดได้ 40 % ในเดือนมีนาคมและมิถุนายน

ฝน

นราธิวาสเป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก จัดได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีฝนดีจังหวัดหนึ่งของภาคใต้ ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกชุกมากกว่าฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เพราะอยู่ทางด้านตะวันออก ไม่มีภูเขาสูงปิดกั้นจึงได้รับมรสุมเต็มที่ ทำให้มีฝนตกน้อยกว่าฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเพราะภูมิประเทศมีแนวเทือกเขาตะนาวศรีปิดกั้น ทำให้ได้รับกระแสลมจากมรสุมนี้ไม่เต็มที่ ปริมาณฝนเฉลี่ยของจังหวัดนราธิวาสอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 26118.8 มิลลิเมตร และมีฝนตกประมาณ 171 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน มีปริมาณฝนเฉลี่ยประมาณ 639.0 มิลลิเมตร และมีฝนตกประมาณ 22 วัน เคยวัดฝนสูงสุดใน 27 ชั่วโมงได้ 6625.9 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2498

จำนวนเมฆ

ตลอดทั้งปีจะมีจำนวนเมฆเฉลี่ยประมาณ 6 ส่วนของจำนวนเมฆ 8 ส่วน ส่วนในท้องฟ้า ในฤดูร้อนจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 5 ส่วน ในฤดูฝนจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 7 ส่วน ส่วนฤดูหนาวจะมีประมาณ 6 ส่วน

หมอก ฟ้าหลัว และทัศนวิสัย

โดยเฉลี่ยแล้วจังหวัดนราธิวาสมีโอกาสเกิดหมอกได้น้อยมากประมาณเดือนละ 1 – 4 วัน วันที่เกิดหมอกทัศนวิสัยจะเลว เห็นได้ไกลไม่เกิน 1 กิโลเมตร ส่วนฟ้าหลัวเกิดทุกเดือนตลอดปีในเดือนหนึ่ง ๆ จะมีฟ้าหลัวเกิดได้ประมาณ 4 – 14 วัน เดือนที่มีโอกาสเกิดได้มากที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน วันที่มีฟ้าหลัวทัศนวิสัย จะเห็นได้ไกลประมาณ 7 กิโลเมตร ทัศนวิสัยเฉลี่ยเวลา 07.00 น. จะเห็นได้ไกลประมาณ 8 กิโลเมตร และเฉลี่ยตลอดวันประมาณ 11 กิโลเมตร

ลม

ระบบหมุนเวียนของลมในจังหวัดนราธิวาสมีความชัดเจนดี โดยในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาวตอนต้นฤดูระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนจะมีลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดด้วยความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 8 - 9 กม./ชม. เดือนมกราคมถึงมีนาคมเป็นลมทิศตะวันออก ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 11 - 13 กม./ชม. เดือนเมษายนถึงสิงหาคมเป็นลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 9 – 11 กม./ชม. เดือนกันยายนเป็นลมทิศตะวันตก ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 9 กม./ชม. กำลังลมสูงที่สุดในแต่ละฤดูมีดังนี้ ฤดูร้อนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 74 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกในเดือนมีนาคม ฤดูฝนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 102 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในเดือนกรกฎาคม และทิศตะวันตกในเดือนตุลาคม ส่วนในฤดูหนาวเคยตรวจลมได้สูงที่สุดได้ 111 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนพฤศจิกายน

พายุหมุน

พายุหมุนเขตร้อนที่ผ่านบริเวณภาคใต้และทำความกระทบกระเทือนให้กับจังหวัดนราธิวาสส่วนมากจะเป็นพายุดีเปรสชั่นที่มีกำลังอ่อน ส่วนมากจะเกิดจากทะเลจีนใต้ และมีส่วนน้อยที่เกิดจากทางมหาสมุทรแปซิฟิค และมีโอกาสผ่านบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยไปยังอ่าวเบงกอลประมาณเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พายุดีเปรสชั่นและพายุโซนร้อนที่เคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคใต้เกือบทุกครั้งจะกระทำความกระทบกระเทือนให้แก่จังหวัดนราธิวาสด้วย คือจะทำให้มีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และเกิดน้ำท่วมฉับพลันขึ้น กำลังแรงของลมและคลื่นในทะเลจะทำอันตรายแก่เรือต่าง ๆ และอาคารบ้านเรือนที่อยู่ตามชายฝั่งทะเล พายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรงและทำความเสียหายให้แก่ภาคใต้และจังหวัดนราธิวาสที่ผ่านมาได้แก่ พายุโซนร้อน “ฮาเรียต” ซึ่งได้ก่อตัวในทะเลจีนใต้ใกล้ปลายแหลมญวน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2505 แล้วเคลื่อนที่ผ่านเข้ามาในอ่าวไทย พร้อมทั้งทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน เคลื่อนที่ผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพังงา ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2505 ลงสู่ทะเลอันดามัน พายุนี้ได้ทำความเสียหายให้เกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 935 คน บาดเจ็บ 445 คน ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 1,320 ล้านบาท นับเป็นความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย ขณะที่พายุนี้ผ่านจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2505 ได้วัดความเร็วลมได้ถึง 92.7 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตก

ที่ตั้งของสถานีตรวจอากาศนราธิวาสและการตรวจธาตุอากาศประกอบอุตุนิยมวิทยา

สภาวะอากาศที่ได้จัดทำขึ้นนี้ได้มาจากผลการตรวจของสถานีตรวจอากาศนราธิวาส ซึ่งได้ทำการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยาต่าง ๆ แล้วส่งรายงานผลการตรวจไปยังกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อรวบรวมและจัดทำข้อมูลในคาบ 30 ปี

สถานีตรวจอากาศนราธิวาสตั้งอยู่ที่ถนนภูผาภักดี ต.บางนาก อ.เมือง จ.นราธิวาส ใกล้ศาลาประชาคม จ.นราธิวาส หรือที่ละติจูด 06 องศา 25 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 101 องศา 49 ลิปดาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเล 2 เมตร ทำการตรวจธาตุอากาศประกอบอุตุนิยมวิทยา วันละ 8 เวลา คือ 01.00 , 04.00 , 07.00 , 10.00 , 13.00 , 16.00 , 19.00 และ 22.00 น.