ภูมิอากาศจังหวัดปัตตานี

ขนาดและที่ตั้ง

จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศไทย ที่ละติจูด 06 47 เหนือ ลองจิจูด 101 10ตะวันออก ทีพื้นที่ทั้งสิ้น 2,013 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถไฟ 1,009 กิโลเมตร โดยทางรถยนต์ประมาณ 1,377 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อบริเวณใกล้เคียงดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดสงขลา ในท้องที่อำเภอเทพา

ทิศใต้ ติดต่อจังหวัดนราธิวาส ในท้องที่อำเภอบาเจาะ

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย

ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดยะลา ในท้องที่อำเภอยะลา

ภูมิประเทศ

ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบต่ำเหมาะแก่การกสิกรรม พื้นที่ส่วนมากเป็นดินปนทราย ภูเขามีน้อย และไม่ค่อยสำคัญ มีแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำยะหริ่ง และแม่น้ำหนองจิกไหลผ่าน พลเมืองส่วนมากเป็นไทยอิสลาม อาชีพหลักทำนา ทำสวนยางพารา สวนมะพร้าว สวนผลไม้ ทำเหมืองแร่ ทำนาเกลือ เลี้ยงสัตว์และทำการประมง

ฤดูกาล

ฤดูกาลของจังหวัดปัตตานีแบ่งตามลักษณะของลมฟ้าอากาศของประเทศไทยออกได้เป็น 3 ฤดูคือ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุม หลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาว อากาศจะเริ่มร้อนและอากาศนะร้อนจัดที่สุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่ไม่ร้อนมากนักเนื่องจากภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำจากทะเลทำให้อากาศคลายความร้อนไปมาก

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้มีฝนตกทั่วไปและในช่วงฤดูฝนยังมีร่องความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้เป็นระยะ ๆ อีกด้วย จึงทำให้มีฝนตกมากและเนื่องจากเป็นจังหวัดที่อยู่ทางด้านตะวันออกของภาคใต้ จึงได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย ทำให้จังหวัดนี้มีฝนตกมากในช่วงฤดูหนาว คือระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมอีกช่วงหนึ่งด้วย จึงนับว่าจังหวัดนี้มีฤดูฝนที่ยาวนาน

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออกเหนือซึ่งเย็นและแห้งแล้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็นแต่เนื่องจากจังหวัดปัตตานีอยู่ด้านชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้อุณหภูมิจึงลดลงเล็กน้อยเป็นครั้งคราว อากาศจึงไม่สู้จะหนาวเย็นมากนักและตามชายฝั่งจะมีฝนตกทั่วไป

ลักษณะอากาศทั่วไป

จังหวัดปัตตานีอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดประจำเป็นฤดูกาล 2 ชนิดคือ ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาว จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นลมเย็นและแห้งจากแระเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้แระเทศไทยตอนบนตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไปมีแากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งทั่วไป แต่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปกลับมีฝนตกชุกเพราะลมมรสุมนี้พัดผ่านอ่าวไทยจึงพัดพาเอาไอน้ำไปตกเป็นฝนทั่วไปตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป อากาศจึงไม่หนาวเย็นดังเช่นภาคอื่น ๆ ที่อยู่ทางตอนบนของประเทศและจังหวัดปัตตานีซึ่งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกได้รับอิทธิพลของลมนี้เต็มที่จึงมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ปานกลางและมีอากาศเย็นเป็นครั้งคราว ลมมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงพาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีด้านตะวันตกซึ่งปิดกั้นกระแสลมเอาไว้ จึงทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและจังหวัดปัตตานีมีฝนน้อยกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันออกและจังหวัดปัตตานีมีฝนตกน้อยกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลม

อุณหภูมิ

เนื่องจากจังหวัดปัตตานีตั้งอยู่ในคาบสมุทรที่เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล จึงได้รับอิทธิพลจาลมมรสุมอย่างเต็มที่คือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพัดผ่านอ่าวไทย ทำให้ได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นมาก อุณหภูมิเฉลี่ยจึงไม่สูงมาก และอากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อน จะอบอุ่นในช่วงฤดูฝน ส่วนในฤดูหนาวจะมีอากาศเย็นได้ในบางครั้ง อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27.0 ซ. อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.6 ซ. อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32.0 ซ. เคยตรวจอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 37.5 ซ. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2515 และเคยตรวจอุณหภูมิต่ำที่สุดได้ 17.5 ซ. เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2516

ความชื้นสัมพัทธ์

ความชื้นสัมพัทธ์สัมพันธ์กับมวลอากาศและอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ ตลอดทั้งปีของจังหวัดปัตตานีจะมีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมทั้งสองฤดูคือมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและมรสมุตะวันตกเฉียงใต้ มรสุมทั้งสองนี้ก่อนจะพัดเข้าสู่บริเวณจังหวัดได้พัดผ่านทะเลและมหาสมุทรจึงได้พาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาด้วย ทำให้บริเวณจังหวัดมีความชื้นสัมพัทธ์สูงเป็นเวลานาน ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 80 % ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 95 % ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 62 % เคยตรวจความชื้นสัมพัทธ์ต่ำที่สุดได้ 28 % ในเดือนมีนาคม

ฝน

ปัตตานีเป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกจัดว่าเป็นจังหวัดที่มีฝนตกตลอดทั้งปี ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนตกชุกกว่าในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เพราะอยู่ทางด้านตะวันออก ไม่มีภูเขาสูงใดกั้นจึงได้รับอิทธิพลจากมรสุมนี้เต็มที่ทำให้มีฝนตกชุกโดยเฉพาะเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ส่วนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีฝนตกน้อยกว่าฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะภูมิประเทศมีแนวเทือกเขาตะนาวศรีปิดกั้นทำให้ได้รับแระแสลมจากมรสุมนี้ไม่เต็มที่ ปริมาณฝนเฉลี่ยของจังหวัดปัตตานีอยู่ในเกณฑ์ดีถ้าเทียบทั้งประเทศ แต่ถ้าเทียบภายในภาคเดียวกันมีฝนอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ฝนเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 1,816.3 มิลลิเมตร และมีฝนตกเฉลี่ย 147 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน มีฝนเฉลี่ย 432.1 มิลลิเมตร ฝนตกประมาณ 21 วัน ฝนสูงสุดใน 24 ชั่วโมง เคยตรวจได้ 269.3 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2509

จำนวนเมฆ

ตลอดทั้งปีจะมีจำนวนเมฆเฉลี่ยประมาณ 6 ส่วนของจำนวนเมฆ 8 ส่วนในท้องฟ้า โดยในฤดูร้อนจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 4 ส่วน โดยฤดูฝนจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 7 ส่วน ส่วนในฤดูหนาวจะมีเมฆประมาณ 5 ส่วน

หมอก ฟ้าหลัว และทัศนวิสัย

โดยเฉลี่ยแล้วจังหวัดปัตตานีมีโอกาสเกิดหมอกได้น้อยมากประมาณเดือนละ 1 – 4 วัน ส่วนมากจะเกิดระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน วันที่เกิดหมอกทัศนวิสัยจะเลวเห็นได้ไกลไม่เกิน 1 กิโลเมตร ส่วนฟ้าหลัวเกิดมากระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนประมาณ 5 – 12 วัน วันที่มีฟ้าหลัวทัศนวิสัยจะเห็นได้ไกลประมาณ 6 กิโลเมตร ทัศนวิสัยเฉลี่ยเวลา 07.00 น. จะเห็นได้ไกลประมาณ 7 กิโลเมตร และทัศนวิสัยเฉลี่ยตลอดวันประมาณ 9 กิโลเมตร

ลม

ระบบหมุนเวียนของลมในจังหวัดปัตตานี ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาว ลมส่วนใหญ่จะพัดจากทิศตะวันออกโดยตลอด จนเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเมษายน กำลังลมเฉลี่ยประมาณ 6 - 11 กม./ชม. หลังจากสิ้นฤดูร้อนเข้สสู่ฤดูฝนตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมจะเป็นลมทิศตะวันตก กำลังลมเฉลี่ยประมาณ 6 - 9 กม./ชม. กำลังลมสูงที่สุดในแต่ละฤดูมีดังนี้ ฤดูหนาวเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 56 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกในเดือนพฤศจิกายน และทิศตะวันออกในเดือนธันวาคมและมกราคม ฤดูร้อนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 65กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกค่อนไปทางใต้เล็กน้อยในเดือนมีนาคม ส่วนในฤดูฝนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 74 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกในเดือนมิถุนายน

พายุหมุนเขตร้อน

พายุหมุนเขตร้อนที่ผ่านบริเวณภาคใต้และทำความกระทบกระเทือนให้กับจังหวัดปัตตานี ส่วนมากเป็นพายุดีเปรสชั่นที่มีกำลังอ่อน ซึ่งก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้หรือมหาสมุทรแปซิฟิค เคลื่อนตัวเข้ามาในอ่าวไทยระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคมเป็นส่วนมาก พายุนี้จะทำให้มีฝนตกหนัก พายุลมแรงและเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันขึ้นได้ กำลังแรงของลมและคลื่นในทะเลจะทำอันตรายแก่เรือต่าง ๆ และอาคารบ้านเรือนที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลได้ พายุที่มีความรุนแรงและทำความเสียหายให้แก่ภาคใต้เป็นบริเวณกว้าง ได้แก่พายุโซนร้อน “ฮาเรียต” ซึ่งก่อตัวในทะเลจีนใต้ใกล้ปลายแหลมญวน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2505 แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยพร้อมทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และจังหวัดพังงา ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2505 ลงสู่ทะเลอันดามัน พายุมีนี้ความรุนแรงมากได้ทำความเสียหายเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 935 คน และบาดเจ็บ 445 คน ทรัพย์สินของราชการและเอกชนเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 1,320 ล้านบาท นับเป็นความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย

ที่ตั้งของสถานีตรวจอากาศจังหวัดปัตตานี และการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยา

สภาวะอากาศที่ได้จัดทำขึ้นนั้ได้มาจากผลการตรวจของสถานีตรวจอากาศปัตตานีซึ่งได้ทำการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยาต่าง ๆ แล้วส่งรายงานผลการตรวจไปยังกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อรวบรวมและจัดทำข้อมูลในคาบ 30 ปี

สถานีตรวจอากาศหัวหินตั้งอยู่ที่ถนนหนองจิก ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ใกล้สนามบินบ่อทอง จังหวัดปัตตานีหรือที่ละติจูด 06 องศา 47 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 101 องศา 10 ลิปดาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 5.2117 เมตร ทำการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยา วันละ 6 เวลา คือ 01.00, 07.00, 10.00, 13.00, 16.00, 19.00 น.