ภูมิอากาศจังหวัดพัทลุง

ขนาดและที่ตั้ง

พัทลุงเป็นจังหวัดอยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถไฟ 864 กิโลเมตร และทางรถยนต์ประมาณ 1,200 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,787 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อบริเวณใกล้เคียงดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช

ทิศใต้ ติดต่อจังหวัดสงขลาและสตูล

ทิศตะวันออก ติดต่อทะเลสาปสงขลา

ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดตรัง

ภูมิประเทศ

ทางทิศตะวันตกของจังหวัดมีเทือกเขาบรรทัดเป็นแนวพรมแดน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่า ภูเขา เนิน และที่ราบสูง ซึ่งค่อย ๆ ลาดต่ำลงมาทิศตะวันออกจนจดทะเลสาปสงขลา

ฤดูกาล

ฤดูกาลของจังหวัดพัทลุงพิจารณาตามลักษณะอากาศของประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่องว่างระหว่างฤดูมรสุม จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดคือเดือนเมษายน แต่เป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเลจึงไม่ร้อนมากนัก ได้รับกะแสลมและไอน้ำทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย และเนื่องจากเป็นจังหวัดที่อยู่ทางด้านตะวันออกของภาคใต้จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยเต็มที่ ทำให้มีฝนตกมากในช่วงฤดูหนาว คือระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมอีกช่วงหนึ่งด้วย

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีลมเย็นและแห้งจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน แต่เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลจึงได้รับอิทธิพลจากลมนี้เต็มที่ทำให้มีฝนตกชุกมากในฤดูหนาว โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม

ลักษณะอากาศทั่วไป

จังหวัดพัทลุงอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดประจำเป็นฤดูกาล 2 ชนิด คือ ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาวจะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นลมแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ภาคต่าง ๆ ทางตอนบนของประเทศตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไป มีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งทั่วไป แต่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปรวมถึงจังหวัดพัทลุงกลับมีฝนตกชุกเพราะลมมรสุมนี้พัดผ่านอ่าวไทย จึงพาเอาไอน้ำไปตกเป็นฝนทั่วไป อากาศจึงไม่หนาวเย็นดังเช่นภาคอื่น ๆ ที่อยู่ตอนบนของประเทศ แต่อาจมีอากาศเย็นเป็นครั้งคราว ลมมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงได้พาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกกันกระแสลมไว้ ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกและจังหวัดพัทลุงมีฝนน้อยกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลม

อุณหภูมิ

จังหวัดพัทลุงอยู่ใกล้ทะเล ฤดูร้อนมีอากาศไม่ร้อนมากนัก ส่วนฤดูหนาวไม่ถึงกับหนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 – 28 ซ. อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31 – 32 ซ. อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 23 – 24 ซ. เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดคือเดือนเมษายน เคยตรวจอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 38.2ซ. เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2519 และตรวจอุณหภูมิต่ำที่สุดได้ 19.1ซ. เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2504

ความชื้นสัมพัทธ์

ความชื้นสัมพัทธ์สัมพันธ์กับมวลอากาศและอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมทั้งสองฤดู คือมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มรสุมทั้งสองชนิดนี้ก่อนที่จะพัดเข้าสู่บริเวณจังหวัดได้พัดผ่านทะเลปละมกาสมุทรจึงได้พาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาด้วย ทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์สูง ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 79 % ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 92 % ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 66 % เคยตรวจความชื้นสัมพัทธ์ต่ำที่สุดได้ 36 % ในเดือนมีนาคมและเมษายน

ฝน

พัทลุงจัดว่าเป็นจังหวัดที่มีฝนค่อนข้างดีของภาคใต้ ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกชุกมากกว่าในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เพราะอยู่ทางด้านตะวันออก ไม่มีภูเขาสูงปิดกั้น จึงได้รับมรสุมเต็มที่ทำให้มีฝนตกชุกโดยเฉพาะระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ส่วนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีฝนน้อยกว่าฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเพราะมีเทือกเขาตะนาวศรีปิดกั้นทำให้ได้รับกระแสลมไม่เต็มที่ ฝนเฉลี่ยประมาณ 2,093.8 มิลลิเมตร และมีฝนตกประมาณ 159 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน มีฝนตกเฉลี่ยประมาณ 582.6 มิลลิเมตร และมีฝนตกประมาณ 23 วัน เคยวัดฝนสูงสุดใน 24 ชั่วโมงได้ 329.4 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2519

จำนวนเมฆ

ตลอดทั้งปีมีจำนวนเมฆเฉลี่ย 6 ส่วนของจำนวนเมฆ 8 ส่วนในท้องฟ้า ในฤดูร้อนมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 5 ส่วน ฤดูฝนมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 7 ส่วน ส่วนในฤดูหนาวมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 6 ส่วน

หมอก ฟ้าหลัว และทัศนวิสัย

โดยเฉลี่ยแล้วจังหวัดพัทลุงเกิดหมอกได้น้อยมากประมาณเดือนละ 1 - 2 วัน วันที่เกิดหมอกทัศนวิสัยเลวเห็นได้ไกลไม่เกิน 1 กิโลเมตร ส่วนฟ้าหลัวเกิดทุกเดือนตลอดปี ในเดือนหนึ่ง ๆ จะมีฟ้าหลัวประมาณ 2 – 12 วัน เดือนกุมถาพันธ์ มีนาคม และเมษายน เกิดมากที่สุดประมาณ 10 – 12 วัน วันที่มีฟ้าหลัวทัศนวิสัยเห็นได้ไม่ไกลประมาณ 7 กิโลเมตร ทัศนวิสัยเฉลี่ยเวลา 07.00 น. ประมาณ 11 กิโลเมตร และเฉลี่ยตลอดวัน 13 กิโลเมตร

ลม

จังหวัดพัทลุงมีลมพัดผ่านประจำตลอดปีดังนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน เป็นลมทิศตะวันออก ความเร็วเฉลี่ย 13 – 22 กม./ชม. เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมเป็นลมทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็วลมเฉลี่ย 9 – 11 กม./ชม. กำลังลมสูงที่สุดเคยตรวจได้มีดังนี้ ฤดูร้อนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 124 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกในเดือนมีนาคม ฤดูฝนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 130 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกค่อนไปทางใต้เล็กน้อยในเดือนมิถุนายน ส่วนในฤดูหนาวเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 141 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกในเดือนพฤศจิกายน

พายุหมุนเขตร้อน

พายุหมุนเขตร้อนที่ผ่านบริเวณภาคใต้และทำความกระทบกระเทือนให้กับจังหวัดพัทลุง ส่วนมากเป็นพายุดีเปรสชั่น ซึ่งเกิดจากทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิค ทำให้มีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงเป็นครั้งคราว บางครั้งทำให้เกิดน้ำท่วมได้ กำลังแรงของลมและคลื่นในทะเลจะทำอันตรายแก่เรือขนาดเล็ก และอาคารบ้านเรือนที่อยู่ตามชายฝั่ง พายุที่มีความรุนแรงและทำความกระทบกระเทือนให้แก่จังหวัดพัทลุงและภาคใต้เป็นบริเวณกว้าง ได้แก่พายุโซนร้อน “ฮาเรียต” ซึ่งก่อตัวในทะเลจีนใต้ใกล้ปลายแหลมญวน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2505 แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยพร้อมทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2505 ลงสู่ทะเลอันดามัน พายุนี้ได้ทำความเสียหายเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 935 คน และบาดเจ็บ 445 คน ทรัพย์สินของราชการและเอกชนเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 1,320 ล้านบาท นับเป็นความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทยนอกจากนี้ยังมีพายุดีเปรสชั่นเคลื่อนตัวผ่านจังหวัดพัทลุงเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2520