ภูมิอากาศจังหวัดเพชรบุรี

ขนาดและที่ตั้ง

จังหวัดเพชรบุรีตั้งอยู่ทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่ละติจูด 13 องศา 09 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 100 องศา 04 ลิปดาตะวันออก โดยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 126 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 6,356.92 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อจังหวัดใกล้เคียงดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดราชบุรีและจังหวัดสมุทรสงคราม

ทิศตะวันออก ติดต่ออ่าวไทย

ทิศใต้ ติดต่อจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ทิศตะวันตก ติดต่อประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า

ภูมิประเทศ

พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเพชรบุรีเป็นที่ราบสูง มีภูเขาและป่าไม้ ทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มไปจนจรดอ่าวไทย ทิศตะวันตกเป็นที่ราบสูงและเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างไทยและ สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า นอกจากนี้ยังมีป่าไม้อยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง และบางส่วนในอำเภอชะอำ

ฤดูกาล

ฤดูกาลของจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทย แบ่งออกได้ดังนี้ คือ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนอบอ้าวทั่วไป โดยมีเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบปี

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าสู่ประเทศไทย อากาศจะชุ่มชื้นและมีฝนตกทั่วไป โดยมีฝนตกหนักในเดือนตุลาคม

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น และอาจมีฝนได้ตามบริเวณชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนมีฝนตกมา ส่วนเดือนธันวาคมและมกราคมมีฝนตกน้อยและอากาศอยู่ในเกณฑ์เย็น

ลักษณะอากาศทั่วไป

จังหวัดเพชรบุรีอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดเวียนเป็นประจำเป็นฤดูกาล 2 ชนิด คือ พัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว เรียกว่าฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้จังหวัดเพชรบุรีซึ่งอยู่ทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนน้อยในช่วงฤดูหนาว และมีอากาศเย็นเป็นครั้งคราวคล้ายคลึงกับภาคกลาง แต่ในช่วงต้นฤดูอาจมีฝนตกชุกได้ ส่วนมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ลมนี้จะพัดประจำในฤดูฝน และเป็นลมที่พัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงทำให้ประเทศไทยมีฝนตกมาก แต่เนื่องจากจังหวัดเพชรบุรีอยู่หลังทิวเขาตะนาวศรีซึ่งปิดกั้นทางลมนี้ไว้จึงเป็นที่อับฝน และมีฝนตกน้อยในช่วงฤดูฝน ฝนส่วนใหญ่จะตกมากในช่วงฤดูหนาวคือระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน

อุณหภูมิ

เนื่องจากจังหวัดเพชรบุรีอยู่ทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลักษณะอากาศจึงคล้ายคลึงกับภาคกลาง แต่เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลจึงได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นจากทะเลในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย ทำให้ไม่หนาวมากในฤดูหนาว และไม่ร้อนมากในฤดูร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27.7 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 23.8 องศาเซลเซียส เคยตรวจอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 39.6 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2523 อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 13.3 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2525

ความชื้นสัมพัทธ์

เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ได้รับอิทธิพลจากทะเล จึงมีความชื้นสูงเกือบตลอดปี ในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นระยะที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย อากาศโดยทั่วไปจะแห้งแล้งและหนาวเย็น ความชื้นสัมพัทธ์ค่อนข้างสูงในตอนรุ่งเช้า แต่จะลดลงอย่างรวดเร็วและมีค่าต่ำในตอนบ่ายถึงเย็น เมื่อเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูร้อนมีอากาศร้อนอบอ้าวขึ้น แต่ได้รับกระแสลมจากทะเลจึงทำให้อากาศมีความชุ่มชื้น ความชื้นสัมพัทธ์จะสูงกว่าในฤดูหนาว ส่วนในฤดูฝนเป็นช่วงที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูงที่สุด เนื่องจากเป็นระยะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย มรสุมนี้เป็นลมที่พัดจากทะเลพัดพาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาสู่จังหวัด ทำให้ความชื้นสัมพัทธ์สูงตลอดฤดูฝน ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปี 77 % ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 87 % ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 64 % เคยตรวจความชื้นสัมพัทธ์ ต่ำที่สุดได้ 30 %

ฝน

จังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดที่มีฝนอยู่ในเกณฑ์แล้งจัดเพราะภูมิประเทศอยู่ในสภาพอับฝน ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดต่าง ๆ ทางภาคใต้ตะวันออกซึ่งอยู่ตอนล่างจะมีฝนชุก แต่จังหวัดเพชรบุรีมีฝนตกน้อยเพราะมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือผ่านบริเวณแคบ และถูกทิวเขาด้านตะวันออกปิดกั้น ทำให้มรสุมนี้มีกำลังอ่อน มีปริมาณฝนที่ตกในช่วงมรสุมนี้จึงมีปริมาณน้อย ส่วนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ฝนก็ยังมีปริมาณน้อยเพราะบริเวณด้านตะวันตกของจังหวัดมีแนวเทือกเขาตะนาวศรี เป็นพืดยาวกั้นกระแสลมและความชุ่มชื้นจากลมมรสุมนี้ ปริมาณที่มีฝนตกมากที่สุดในช่วงนี้จึงมีน้อย ฝนเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 853.3 มิลลิเมตร ฝนตกเฉลี่ย 104 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนตุลาคมฝนเฉลี่ยประมาณ 174.0 มิลลิเมตร และมีฝนตก 15 วัน ฝนสูงสุดใน 24 ชั่วโมง เคยตรวจได้ 188.0 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2524

จำนวนเมฆ

ตลอดทั้งปีจะมีจำนวนเมฆเฉลี่ยประมาณ 5 ส่วนของจำนวนเมฆ 8 ส่วนในท้องฟ้า โดยในฤดูร้อนจะมีเมฆเฉลี่ย 3 ส่วน ฤดูฝนเฉลี่ย 7 ส่วน และฤดูหนาวจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 3 ส่วน

หมอก ฟ้าหลัว และทัศนวิสัย

จังหวัดเพชรบุรีมีโอกาสเกิดหมอกได้น้อยมาก ส่วนฟ้าหลัวเกิดมากระหว่างเดือนธันวาคมถึงเมษายน ประมาณ 28 – 30 วัน วันที่เกิดฟ้าหลัวจะเห็นได้ไกลประมาณ 7 กิโลเมตร ทัศนวิสัยเฉลี่ยตลอดปีเวลา 07.00 น. จะเห็นได้ไกลประมาณ 11 กิโลเมตร และทัศนวิสัยเฉลี่ยตลอดวันประมาณ 12 กิโลเมตร

ลม

การพัดเวียนของลมในจังหวัดเพชรบุรีชัดเจนดี ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคมจะเป็นลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังลมเฉลี่ย 3 – 4 กม./ ชม. เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมจะเป็นทิศตะวันออกเฉียงใต้ กำลังลมเฉลี่ย 6 – 11 กม./ ชม. เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมจะเป็นลมทิศใต้ กำลังลมเฉลี่ย 12 – 13 กม./ ชม. และเดือนกันยายนจะเป็นลมทิศตะวันออกเฉียงใต้ กำลังลมเฉลี่ย 13 กม./ ชม. กำลังลมสูงที่สุดที่เคยตรวจได้ในฤดูต่าง ๆ มีดังนี้ ฤดูร้อนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 83 กม./ ชม. เป็นลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศใต้ค่อนไปทางตะวันออกเล็กน้อยในเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 74 กม./ ชม. เป็นลมทิศตะวันออกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อยในเดือนตุลาคม ส่วนในฤดูฝนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 56 กม./ ชม. เป็นลมทิศตะวันออกในเดือนพฤศจิกายน

พายุหมุน

ไม่เคยปรากฏว่ามีพายุหมุนเคลื่อนที่ผ่านเข้ามาในบริเวณจังหวัดเพชรบุรี นอกจากได้รับความกระทบกระเทือนจากพายุดีเปรสชั่น ซึ่งเคลื่อนที่เข้ามาบริเวณใกล้เคียง แต่ไม่มีความรุนแรงมากนัก

ที่ตั้งของสถานีตรวจอากาศเพชรบุรีและการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยา

สภาวะอากาศที่ได้จัดทำขึ้นนี้ได้มาจากผลการตรวจอากาศของสถานีตรวจอากาศเพชรบุรี ซึ่งได้ทำการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยาต่าง ๆ แล้วส่งรายงานผลการตรวจไปยังกรมอุตุนิยมวิทยา

สถานีตรวจอากาศเพชรบุรีตั้งอยู่ที่ตำบลหาดเจ้าสำราญ อ. เมือง จ.เพชรบุรี อยู่ใกล้การประปาเพชรบุรี หรือที่ละติจูด 13 องศา 09 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 100 องศา 04 ลิปดาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเล 2.01 เมตร ทำการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยาวันละ 6 เวลา คือ 01.00, 07.00, 10.00, 13.00, 16.00 และ 19.00 น.