ภูมิอากาศจังหวัดสงขลา

สภาพอากาศทั่วๆไปของจังหวัดสงขลา

สภาพภูมิศาสตร์

- ที่ตั้ง สงขลาเป็นจังหวัดชายทะเลตั้งอยู่ในภาคใต้ฝังตะวันออก ที่ละติจูด 7 องศา 12 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 108 องศา 36 ลิปดาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 4 เมตร ห่างจากกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ 947 กิโลเมตร โดยทางรถยนต์ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 เลียบฝั่งตะวันตกประมาณ 1,300 กิโลเมตร สายเลียบฝั่งตะวันออกประมาณ 1,125 กิโลเมตร และประมาณ 725 กิโลเมตรทางทะเล

- อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนครศรีธรรมราชและพัทลุง

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทยด้านทะเลจีน

ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดยะลา ปัตตานี และรัฐเคดาร์,เปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย

ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดพัทลุงและสตูล

- เนื้อที่ จังหวัดสงขลามีเนื้อที่ประมาณ 7,150 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,464,3375 ไร่ พื้นที่ทางเหนือส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ทางตะวันออกเป็นที่ราบริมทะเล ทางใต้เป็นที่ราบสูง ป่าและภูเขา ค่อย ๆ ลาดเทไปทางทะเลสาบสงขลา เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำนา ทำไร่ ทำสวนยางพารา และสวนผลไม้ โดยพื้นที่ถือครองทางการเกษตรประมาณร้อยละ 61 เป็นพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 36 ที่เหลือร้อยละ 3 เป็นเนื้อที่ใช้ประโยชน์ด้านการค้า และที่อยู่อาศัย

ลักษณะภูมิประเทศ แบ่งออกได้เป็น 3 บริเวณ คือ

ก. บริเวณทะเลสาบสงขลาทางทิศเหนือที่อำเภอสะทิงพระและอำเภอระโนด

เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาและพืชพันธุ์อื่น ๆ

ข. บริเวณทะเลนอก พื้นที่เป็นที่ราบเหมาะแก่การปลูกมะพร้าวและต้นสน พื้นที่ซึ่งหางจากทะเลไปเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา อันได้แก่ บนพื้นที่อำเภอสะทิงพระ อำเภอระโนด อำเภอเมือง อำเภอเทพา และอำเภอจะนะ

ค. บริเวณที่ประกอบด้วยเนินและภูเขา พื้นที่เป็นดินเหนียวปนทรายและลูกรัง มีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย มีป่าไม้ซึ่งใช้ในการปลูกสร้างบ้าน ยางพารา มีการปลูกผลไม้เป็นแห่ง ๆ บริเวณดังกล่าวได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอรัตภูมิ อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย

ฤดูกาล

ฤดูกาลของจังหวัดสงขลาแบ่งตามลักษณะของลมฟ้าอากาศของประเทศไทยออกได้เป็น 3 ฤดู คือ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่องว่างระหว่างฤดูมรสุมหลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาวแล้ว อากาศจะเริ่มร้อนและมีอากาศร้อนจัดที่สุดในเดือนเมษายน แต่ไม่ร้อนมากนักเนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลกระแสลมและไอน้ำทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นลมที่ร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้มีฝนตกทั่วไปและในช่วงฤดูฝนยังมีร่องความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้เป็นระยะ ๆ อีกด้วย จึงทำให้มีฝนตกมาก และเนื่องจากเป็นจังหวัดที่อยู่ทางด้านตะวันออกของภาคใต้จึงได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย ทำให้จังหวัดนี้มีฝนตกมากในช่วงฤดูหนาวคือระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมอีกช่วงหนึ่งด้วย จึงนับว่าเป็นจังหวัดที่มีฤดูฝนอันยาวนาน

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในระยะนี้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากจังหวัดสงขลาอยู่ทางด้านชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้อุณหภูมิจึงลดลงเล็กน้อยเป็นครั้งคราว อากาศจึงไม่สู้จะหนาวเย็นมากนักและบริเวณชายฝั่งจะมีฝนตกชุกทั่วไป

ลักษณะอากาศทั่วไป

จังหวัดสงขลาอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดประจำเป็นฤดูกาล 2 ชนิด คือมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาวจะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นลมเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ภาคต่างๆ ทางตอนบนของประเทศตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไป มีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งทั่วไป แต่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปรวมถึงสงขลาด้วยกลับมีฝนตกชุกเพราะลมมรสุมนี้พัดผ่านอ่าวไทย จึงพาเอาไอน้ำไปตกเป็นฝนทั่วไป อากาศจึงไม่หนาวเย็นดังเช่นภาคอื่น ๆ ที่อยู่ตอนบนของประเทศ แต่อาจมีอากาศเย็นเป็นครั้งคราว ลมมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดียจึงพาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกกั้นกระแสลมไว้ ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและจังหวัดสงขลามีฝนตกน้อยกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านที่รับลม

อุณหภูมิ

เนื่องจากจังหวัดสงขลาตั้งอยู่บนฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดจากมหาสมุทรอินเดียและลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านอ่าวไทย ทำให้ได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นมาก อุณหภูมิเฉลี่ยจึงไม่สูงมาก อากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อนและอบอุ่นในช่วงฤดูฝน ส่วนในฤดูหนาวจะมีอากาศเย็นเป็นบางครั้ง อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 23.9 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31.4 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดส่วนมากอยู่ในเดือนเมษายน แต่มีบางปีที่มีอากาศร้อนที่สุดอยู่ในเดือนพฤษภาคม เคยตรวจอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 338.2 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2519 และตรวจอุณหภูมิต่ำที่สุดได้ 19.1 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2504

ความชื้นสัมพัทธ์

ความชื้นสัมพัทธ์สัมพันธ์กับมวลอากาศและอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญตลอดทั้งปีของจังหวัดสงขลาจะมีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งสองฤดูคือ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มรสุมทั้งสองนี้ก่อนที่จะพัดเข้าสู่บริเวณจังหวัดได้พัดผ่านทะเลและมหาสมุทรจึงพาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาด้วย ทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์สูง ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 79 % โดยมีความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 92 % ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 66 % เคยตรวจความชื้นสัมพัทธ์ต่ำที่สุดได้ 36 % ในเดือนมีนาคมและเมษายน

ฝน

จังหวัดสงขลาอยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก จัดว่าเป็นจังหวัดที่มีฝนตกค่อนข้างดีจังหวัดหนึ่งของภาคใต้ ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือจะมีฝนตกชุกมากว่าฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เพราะอยู่ทางด้านตะวันออก ไม่มีภูเขาสูงปิดกั้นจึงได้รับมรสุมเต็มที่ทำให้มีฝนตกชุก โดยเฉพาะเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ส่วนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีฝนตกน้อยดว่าฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเพราะมีภูมิประเทศมีแนวเทือกเขาตะนาวศรีปิดกั้นทำให้ได้รับกระแสลมจากมรสุมไม่เต็มที่ ปริมาณฝนเฉลี่ยของจังหวัดสงขลาอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ฝนเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 2,093.8 มิลลิเมตร และมีฝนตกประมาณ 159 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน มีปริมาณฝนเฉลี่ยประมาณ 582.6 มิลลิเมตร และมีฝนตกประมาณ 23 วัน เคยวัดฝนสูงสุดใน 24 ชั่วโมง ได้ 329.4 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2519

จำนวนเมฆ

ตลอดทั้งปีจะมีจำนวนเมฆเฉลี่ยประมาณ 6 ส่วนของจำนวนเมฆ 8 ส่วนในท้องฟ้า ในฤดูร้อนจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 5 ส่วน โดยฤดูฝนจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 7 ส่วน ส่วนในฤดูหนาวจะมีเมฆประมาณ 6 ส่วน

หมอก ฟ้าหลัว และทัศนวิสัย

โดยเฉลี่ยแล้วจังหวัดสงขลามีโอกาสเกิดหมอกได้น้อยมากประมาณเดือนละ 1 – 2 วัน วันที่เกิดหมอกทัศนวิสัยจะเลวเห็นได้ไกลไม่เกิน 1 กิโลเมตร ส่วนฟ้าหลัวเกิดขึ้นทุกเดือนตลอดปี ในเดือนหนึ่ง ๆ จะมีฟ้าหลัวเกิดได้ประมาณ 2 – 12 วัน เดือนที่มีโอกาสเกิดได้มากที่สุดคือกุมภาพันธ์ถึงเมษายน วันที่มีฟ้าหลัวทัศนวิสัยจะเห็นได้ไกลประมาณ 7 กิโลเมตร ทัศนวิสัยเฉลี่ยเวลา 07.00 น. จะเห็นได้ไกลประมาณ 11 กิโลเมตรและเฉลี่ยตลอดวันประมาณ 13 กิโลเมตร

ลม

ระบบหมุนเวียนของลมในจังหวัดสงขลา ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนจะเป็นลมทิศตะวันออก ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 13 – 22 กม./ชม. เดือนพฤษภาคมและสิงหาคมเป็นลมทิศตะวันตก ความเร็วลมเฉลี่ย 9 – 11 กม./ชม. เดือนมิถุนายน กรกฎาคม กันยายน และตุลาคม เป็นลมทิศตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็วลมเฉลี่ย 9 – 11 กม./ชม. กำลังลมสูงที่สุดในแต่ละฤดูมีดังนี้ ฤดูร้อนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 124 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกในเดือนมีนาคม ฤดูฝนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 130 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกค่อนไปทางใต้เล็กน้อยในเดือนมิถุนายน ส่วนในฤดูหนาวเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 141 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกในเดือนพฤศจิกายน

พายุหมุน

พายุหมุนเขตร้อนที่ผ่านบริเวณภาคใต้และทำความกระทบกระเทือนให้กับจังหวัดสงขลาส่วนมากนะเป็นพายุดีเปรสชั่นที่มีกำลังอ่อน ส่วนมากจะเกิดจากทะเลจีนใต้และมีส่วนน้อยที่เกิดจากมหาสมุทรแปซิฟิก และมีโอกาสผ่านบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยไปยังอ่าวเบงกอลประมาณเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พายุดีเปรสชั่นและพายุโซนร้อนที่เคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคใต้เกือบทุกครั้งจะทำความกระทบกระเทือนให้แก่จังหวัดสงขลาด้วย ทำให้มีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และเกิดน้ำท่วมฉับพลันขึ้น กำลังแรงของลมและคลื่นในทะเลจะทำอันตรายแก่เรือต่าง ๆ และอาคารบ้านเรือนที่อยู่ตามชายฝั่งทะเล พายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรงและทำความเสียหายให้แก่ภาคใต้และจังหวัดสงขลาที่ผ่านมาได้แก่พายุโซนร้อน “ฮาเรียต” ซึ่งได้ก่อตัวในทะเลจีนใต้ใกล้ปลายแหลมญวน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2505 และเคลื่อนผ่านเข้ามาในอ่าวไทยพร้อมทั้งทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน เคลื่อนที่ผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพังงา ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2505 ลงสู่ทะเลอันดามัน พายุนี้ทำความเสียหายให้เกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยมีผู้เสียชีวิต 935 คน บาดเจ็บ 445 คน ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 1,320 ล้านบาท นับเป็นความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย พายุดีเปรสชั่นที่เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2507 ทำให้มีฝนตกหนักใน 24 ชั่วโมงวัดจำนวนได้ 70.7 มิลลิเมตร และเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2512 ทำให้มีฝนตกหนักใน 27 ชั่วโมง วัดจำนวนได้ 242.6 มิลลิเมตร

ที่ตั้งของศูนย์พยากรณ์อากาศภาคใต้สงขลาและการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยา

สภาวะอากาศที่ได้จัดทำขึ้นนี้ได้ผลการตรวจของศูนพยากรณ์อากาศภาคใต้สงขลา ซึ่งได้ทำการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยาต่างๆ แล้วรายงานผลการตรวจไปยังกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อรวบรวมและจัดทำข้อมูลในคาบ 30 ปี

ศูนย์พยากรณ์อากาศภาคใต้สงขลา ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ใกล้สถานีทหารเรือสงขลา หรือที่ละติจูด 07 องศา 12 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 100 องศา 36 ลิปดาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเล 4 เมตร ทำการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยาวันละ 5 เวลา คือ 07.00 , 10.00 , 13.00 , 16.00 และ 19.00 น.