ภูมิอากาศจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ที่ตั้งและอาณาเขต

จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ฝั่งตะวันออก ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย ที่ละติจูด 09 07 เหนือ ลองจิจูด 99 21ตะวันออก ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศใต้ 651 กิโลเมตรโดยทางรถไฟ มีเนื้อที่ประมาณ 12,890 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับที่ 10 ของประเทศไทย และมากที่สุดในภาคใต้ พื้นที่จังหวัดทั้งหมดอยู่ในคาบสมุทรที่เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล มีอาณาเขตติดต่อกับบริเวณใกล้เคียงดั้งนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดชุมพรและอ่าวไทย

ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดนครศรีธรรมราช

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทยและจังหวัดนครศรีธรรมราช

ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดพังงาและจังหวัดระนอง

ภูมิประเทศทั่วไป

ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสภาพผสมผสานเข้าด้วยกันหลายลักษณะ จำแนกได้ดังนี้

พื้นที่ส่วนที่ลึกเข้าไปสุดด้านตะวันตกเป็นที่ราบสูง มีภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีป่าไม้มีค่าอยู่ทั่วไปเป็นทั้งป่าโปร่งและป่าดงดิบ

พื้นที่ตอนกลางและริมทะเล คืออ่าวไทยฝั่งตะวันออกเป็นที่ราบ ริมฝั่งทะเลมีภูเขา ป่าไม้เบญจพรรณ ป่าชายเลน และทุ่งหญ้า

พื้นที่เป็นเกาะในทะเล ได้แก่เกาะในเขตของอำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพงัน และอำเภอดอนลักมีเกาะใหญ่น้อยที่มีที่ราบตามริมฝั่งทะเล

พื้นที่ราบสูงทางทิศตะวันตก คือส่วนที่เป็นสันเขาตะนาวศรี ซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับจังหวัดระยอง และจังหวัดพังงาจะค่อย ๆ ลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกตลอดเขตจังหวัด แม่น้ำที่สำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานีคือแม่น้ำตาปี ยาวประมาณ 200 กิโลเมตร และแม่น้ำพุมดวงหรือแม่น้ำคีรีรัฐยาวประมาณ 80 กิโลเมตร

ฤดูกาล

ฤดูกาลของจังหวัดสุราษฎร์ธานีแบ่งตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทยออกได้เป็น 3 ฤดู คือ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุม หลีงจาดสิ้นสุดฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้วอากาศจะเริ่มร้อนและจะมีอากาศร้อนจัดไปที่สุดในเดือนเมษายน แต่ไม่ร้อนมากนักเนื่องจากภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำจากทะเลทำให้อากาศคลายร้อนลงไปมาก

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้มีฝนตกทั่วไป และในช่วงฤดูฝนยังมีร่องความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้เป็นระยะ ๆ อีกด้วย จึงทำให้มีฝนตกมากและเนื่องจากเป็นจังหวัดที่อยู่ทางด้านตะวันออกของภาคใต้ จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกมากในช่วงฤดูหนาว คือระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมอีกช่วงหนึ่งด้วย จึงนับว่าจังหวัดนี้มีฤดูฝนที่ยาวนาน

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้ง จากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีอยู่ด้านชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้อุณหภูมิจึงลดลงเล็กน้อยเป็นครั้งคราว อากาศจึงไม่สู้จะหนาวเย็นมากนัก และตามชายฝั่งทะเลจะมีฝนตกทั่วไปโดยเฉพาะในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน

ลักษณะทั่วไป

จังหวัดสุราษฎร์ธานีอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดประจำเป็นฤดู 2 ชนิด คือ ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาว จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นลมเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไป มีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งทั่วไป แต่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปกลับมีฝนตกชุก เพราะลมมรสุมนี้พัดผ่านอ่าวไทยจึงพัดพาเอาไอน้ำไปตกเป็นฝนทั่วไปตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป อากาศจึงไม่หนาวเย็นดังเช่นภาคอื่น ๆ ที่อยู่ทางตอนบนของประเทศและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกได้รับอิทธิพลของลมนี้เต็มที่ จึงมีฝนตกอยู่ในเกณฑ์ปานกลางและมีอากาศหนาวเย็นเป็นครั้งคราว ลมมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงพาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรี ด้านตะวันตกปิดกั้นกระแสลมไว้ ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีฝนน้อยกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลม

อุณหภูมิ

เนื่องจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ในคาบสมุทรที่เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมอย่างเต็มที่ คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดียและลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพัดผ่านอ่าวไทย ทำให้ได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นมาก อุณหภูมิเฉลี่ยจึงไม่สูงมากนัก และอากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อนจะอบอุ่นในช่วงฤดูฝน ส่วนในฤดูหนาวจะมีอากาศเย็นได้ในบางครั้ง อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 26.3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32.1 องศาเซลเซียส เคยตรวจอุณหภูมิสูงสุดได้ 39.0 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2501 และวันที่ 6 เมษายน 2501 เคยตรวจอุณหภูมิต่ำที่สุดได้ 12.4 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2500

ความชื้นสัมพัทธ์

ความชื้นสัมพัทธ์สัมพันธ์กับมวลอากาศและอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ ตลอดทั้งปีจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะมีความชื้นสัมพัทธ์สูง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมทั้งสองฤดู คือ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มรสุมทั้งสองนี้ก่อนที่จะพัดเข้าสู่บริเวณจังหวัด ได้พัดผ่านทะเลและมหาสมุทรจึงได้พาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาด้วย ทำให้บริเวณจังหวัดมีความชื้นสัมพัทธ์สูงเป็นเวลานาน ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 83 % ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 96 % ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 62 % เคยตรวจความชื้นสัมพัทธ์ต่ำที่สุดได้ 20 % ในเดือนมีนาคม

ฝน

จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก จัดเป็นจังหวัดที่มีฝนตลอดทั้งปี ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกชุกมากว่าในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เพราะอยู่ทางด้านตะวันออก ไม่มีภูเขาสูงปิดกั้นจึงได้รับกระแสจากมรสุมเต็มที่ ทำให้มีฝนชุกโดยเฉพาะเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ส่วนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีฝนตกน้อยกว่าฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะภูมิประเทศมีแนวเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเทือกยาวปิดกั้น ทำให้ได้รับกระแสลมจากมรสุมนี้ไม่เต็มที่ ปริมาณฝนเฉลี่ยของจังหวัดสุราษฎร์ธานีอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ฝนเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 1710.0 มิลลิเมตร และฝนตกเฉลี่ย 165 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน มีฝนเฉลี่ย 340.5 มิลลิเมตร ฝนตกประมาณ 20 วัน ฝนสูงสุดใน 24 ชั่วโมงเคยตรวจได้ 457.1 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2507

จำนวนเมฆ

ตลอดทั้งปีจะมีจำนวนเมฆเฉลี่ยประมาณ 6 ส่วนของจำนวนเมฆ 8 ส่วนในท้องฟ้า โดยในฤดูร้อนจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 4 ส่วน ในฤดูฝนจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 7 ส่วน ส่วนในฤดูหนาวจะมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 6 ส่วน

หมอก ฟ้าหลัวและทัศนวิสัย

โดยเฉลี่ยและจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะมีโอกาสเกิดหมอกได้ทุกเดือนเกือบตลอดทั้งปี แต่เดือนที่มีหมอกเกิดได้มากที่สุด คือระหว่างเดือนตุลาคมถึงเมษายน อาจมีหมอกเกิดได้ในเดือนหนึ่งประมาณ 10 – 17 วัน ในวันที่เกิดหมอกทัศนวิสัยจะเลว เห็นได้ไกลไม่เกิน 1 กิโลเมตร ส่วนฟ้าหลัวก็เช่นเดียวกัน โดยเฉลี่ยจะเกิดได้ทุกเดือนตลอดปี แต่ช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนมีฟ้าหลัวเกิดขึ้นมากที่สุดประมาณ 10 – 25 วัน โดยเกิดมากที่สุดในเดือนมีนาคม วันที่มีฟ้าหลัวทัศนวิสัยจะเห็นได้ไกลประมาณ 3 – 4 กิโลเมตร และเฉลี่ยเวลา 07.00 น. จะเห็นได้ไกลประมาณ 6 กิโลเมตร เฉลี่ยตลอดวันเห็นได้ไกลประมาณ 8 – 9 กิโลเมตร

ลม

ระบบหมุนเวียนของลมในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีความชัดเจนดี ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาว ลมส่วนใหญ่จะพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคมเป็นลมอ่อน ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 4 – 6 กม./ ชม. ช่วงว่างของฤดูมรสุมคือในฤดูร้อนเดือนกุมภาพันธ์ ลมจะพัดจากทิศตะวันออกเปลี่ยนกลับเป็นลมทิศตะวันออกเฉียงเหนืออีกในเดือนมีนาคมและเมษายน ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 5 – 6 กม./ ชม. เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มพัดปกคลุมจะเปลี่ยนเป็นลมทิศตะวันตกเฉียงใต้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมดึงตุลาคม ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 4 – 6 กม./ ชม. กำลังลมสูงที่สุดในแต่ละฤดูมีดังนี้ ฤดูร้อนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 76 กม./ชม.