ภูมิอากาศจังหวัดตรัง

ขนาดและที่ตั้ง

จังหวัดตรังตั้งอยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ที่ละติจูด 7 31 เหนือ ลองจิจูด 99 38 ตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 4,944.05 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 845 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อบริเวณใกล้เคียงดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช

ทิศใต้ ติดต่อจังหวัดสตูล

ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดพัทลุง

ทิศตะวันตก ติดต่อกับทะเลในช่องแคบมะละกา

ภูมิประเทศ

ภูมิประเทศของจังหวัดตรังแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ตอนเหนือซึ่งติดต่อกับเทือกเขาบรรทัดเป็นที่เนินสูง ๆ ต่ำ ๆ มีที่ราบอยู่ตามระหว่างเนิน ตามลุ่มแม่น้ำมีป่าไม้ใหญ่ ๆ มีแร่ทองคำ ดีบุก และวุลแฟรม ตอนกลางเป็นที่ลาดต่อเนื่องมาจากตอนเหนือพื้นที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูก ตอนใต้เป็นที่ราบต่ำริมทะเลเพาะปลูกได้ อากาศเย็นสบายตลอดปี

ฤดูกาล

ฤดูกาลของจังหวัดตรังพิจารณาตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทยออกได้เป็น 3 ฤดูคือ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุม หลังจากสิ้นสุดฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาว อากาศจะเริ่มร้อนและอากาศจะร้อนจัดที่สุดในเดือนมีนาคมและเมษายน แต่ไม่ร้อนมากนัก เนื่องจากภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำจากทะเลทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นมากจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้มีฝนตกทั่วไป และในช่วงฤดูฝนยังมีร่องความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้เป็นระยะ ๆ อีกด้วย จึงทำให้มีฝนตกมาก ฝนสูงสุดของจังหวัดนี้อยู่ในเดือนกันยายน

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศเย็น แต่เนื่องจากจังหวัดตรังอยู่ทางด้านชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้ อุณหภูมิจึงลดลงเล็กน้อยเป็นครั้งคราว อากาศจึงไม่หนาวเย็นมากนัก และตามชายฝั่งมีฝนตกทั่วไป

ลักษณะอากาศทั่วไป

จังหวัดตรังเป็นจังหวัดที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดผ่านประจำเป็นฤดูกาล 2 ชนิด คือ ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาว จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นลมเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไปมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งทั่วไป แต่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประขวบคีรีขันธ์ลงไปกลับมีฝนตกชุก เพราะลมมรสุมนี้พัดผ่านอ่าวไทย จึงพาเอาไอน้ำไปตกเป็นฝนทั่วไปตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป อากาศจึงไม่หนาวเย็นดังเช่นภาคอื่น ๆ ที่อยู่ทางตอนบนของประเทศ และจังหวัดตรังซึ่งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันตกได้รับอิทธิพลของลมนี้จึงมีฝนตกเพียงเล็กน้อย และมีอากาศเย็น ลมมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงพาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากจังหวัดตรังอยู่ทางด้านรับลมจึงได้รับอิทธิพลจากลมนี้อย่างเต็มที่ จึงทำให้มีฝนตกชุกมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ที่อยู่ทางตอนบนของประเทศ แต่ในภาคเดียวกันจังหวัดตรังมีฝนอยู่ในเกณฑ์แล้ง

อุณหภูมิ

เนื่องจากจังหวัดตรังตั้งอยู่ในคาบสมุทรที่มีแหลมยื่นออกไปในทะเล จึงได้รับมรสุมอย่างเต็มที่ คือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดียและมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทย ทำให้ได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นมากอุณหภูมิโดยเฉลี่ยจึงไม่สูงมากและอากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อน อากาศจะอบอุ่นในช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูหนาวอากาศจะเย็นในบางครั้ง อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27.4ซ. อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32.3ซ. อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.7ซ. เดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนจัดที่สุด เคยตรวจอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 39.7 ซ. เมื่อวันที่ 13 ,18 เมษายน 2501 และเคยตรวจอุณหภูมิต่ำที่สุดได้ 15.8 ซ. เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2504

ความชื้นสัมพัทธ์

ความชื้นสัมพัทธ์สัมพันธ์กับมวลอากาศและอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ ตลอดทั้งปีจังหวัดตรังจะมีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมทั้งสองฤดูอย่างเต็มที่ มรสุมทั้งสองนี้ก่อนจะพัดเข้าสู่บริเวณจังหวัดได้ผ่านทะเลและมหาสมุทรจึงได้พัดเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาด้วย ทำให้บริเวณจังหวัดมีความชุ่มชื้นและความชื้นสัมพัทธ์สูงเป็นเวลานาน ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 82 % ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 96 % ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 62 % เคยตรวจความชื้นสัมพัทธ์ต่ำที่สุดเคยตรวจได้ 19 % ในเดือนมกราคม

ฝน

ตรังเป็นจังหวัดที่มีฝนอยู่ในเกณฑ์ดีถ้าเทียบทั้งประเทศ แต่ถ้าเทียบตามภาคอยู่ในเกณฑ์ฝนแล้ง เพราะบริเวณจังหวัดอยู่ด้านฝั่งตะวันตกของภาคใต้จึงได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เต็มที่ ปริมาณฝนในฤดูนี้จึงมีมากและได้รับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือน้อย เนื่องจากด้านตะวันออกถูกปิดกั้นด้วยภูเขา ปริมาณฝนในมรสุมนี้จึงน้อย ฝนเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 2,327.4 มิลลิเมตร และมีฝนตกเฉลี่ย 174 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนกันยายน มีฝนเฉลี่ย 335.8 มิลลิเมตร ฝนตกประมาณ 20 วัน ฝนสูงสุดใน 24 ชั่วโมง เคยตรวจได้ 368.7 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2518

จำนวนเมฆ

ตลอดทั้งปีจะมีจำนวนเมฆเฉลี่ยประมาณ 6 ส่วนของจำนวนเมฆในท้องฟ้า 8 ส่วน โดยในฤดูร้อนเมฆประมาณ 4 ส่วน ฤดูฝนประมาณ 7 ส่วน ฤดูหนาวประมาณ 5 ส่วน

หมอก ฟ้าหลัว และทัศนวิสัย

โดยเฉลี่ยแล้วจังหวัดตรังมีโอกาสเกิดหมอกได้เกือบทุกเดือนประมาณเดือนละ 3 – 7 วัน เดือนตุลาคมเป็นเดือนที่เกิดหมอกมากที่สุดประมาณ 12 วัน วันที่เกิดหมอกทัศนวิสัยจะเลวเห็นได้ไม่เกิน 1 กิโลเมตร ส่วนฟ้าหลัวเกิดได้ทุกเดือน เดือนมกราคมถึงเมษายนเกิดมากประมาณเดือนละ 20 – 25 วัน ส่วนเดือนอื่น ๆ จะเกิดได้ประมาณ 9 – 13 วัน วันที่มีฟ้าหลัวทัศนวิสัยจะเห็นได้ไกลประมาณ 6 กิโลเมตร ทัศนวิสัยเฉลี่ยเวลา 07.00 น. ประมาณ 4 กิโลเมตร และทัศนวิสัยเฉลี่ยตลอดวันประมาณ 8 กิโลเมตร

ลม

ระบบหมุนเวียนของลมในจังหวัดตรังมีความชัดเจนดี โดยในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ลมจะพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็วลมเฉลี่ย 7 - 13 กม./ชม. เดือนมกราคมถึงเมษายนพัดจากทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 7 - 15 กม./ชม. และในฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ลมจะเปลี่ยนเป็นทิศตะวันตกความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 6 – 7 กม./ชม. กำลังลมสูงสุดในแต่ละฤดูมีดังนี้ ฤดูร้อนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 93 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกในเดือนเมษายน ฤดูฝนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 93 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกค่อยไปทางใต้เล็กน้อยในเดือนกรกฎาคม และฤดูหนาวเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 74 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกในเดือนธันวาคมและทิศตะวันออกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อยในเดือนมกราคม

พายุหมุนเขตร้อน

พายุหมุนเขตร้อนที่ผ่านบริเวณภาคใต้และทำความกระทบกระเทือนให้กับจังหวัดตรัง ส่วนมากเป็นพายุดีเปรสชั่นที่มีกำลังอ่อน พายุนี้ส่วนมากเกิดจากทะเลจีนใต้และมีส่วนน้อยที่เกิดทางมหาสมุทรแปซิฟิค พายุนี้ได้เคลื่อนตัวเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยผ่านเทือกเขาในประเทศเวียดนามและลาวจึงอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น แต่มีบางครั้งที่ยังคงมีกำลังแรงอยู่เป็นพายุโซนร้อน พายุนี้อาจผ่านไปภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยและทำความกระทบกระเทือนได้ในทุกภาค พายุดีเปรสชั่นหรือพายุโซนร้อนนี้จะมีโอกาสผ่านบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยไปยังอ่าวเบงกอลได้ ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พายุที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคใต้เกือบทุกครั้งจะทำความกระทบกระเทือนให้กับจังหวัดตรังด้วย คือทำให้ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงและเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันขึ้นได้ กำลังแรงของลมและคลื่นในทะเลจะทำอันตรายแก่เรือในทะเล และอาคารบ้านเรือนที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลได้ พายุหมุนที่มีความรุนแรงและทำความเสียหายแก่ภาคใต้เป็นบริเวณกว้างและจังหวัดตรังที่ผ่านมาได้แก่พายุโซนร้อน “ฮาเรียต” ซึ่งก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ใกล้ปลายแหลมญวน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2505 แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยพร้อมทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2505 ลงสู่ทะเลอันดามัน พายุนี้ได้ทำความเสียหายเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 935 คน และบาดเจ็บ 445 คน ทรัพย์สินของราชการและเอกชนเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 1,320 ล้านบาท นับเป็นความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย ในวันที่ 26 ตุลาคม 2505 พายุโซนร้อน “ฮาเรียต” ได้ผ่านจังหวัดตรังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ความเร็วลม 83 กม./ชม. พายุลูกนี้ทำให้มีฝนตกหนักใน 24 ชั่วโมง วัดจำนวนได้ 126.7 มิลลิเมตร ในวันที่ 25 ตุลาคม 2505 นอกจากนี้แล้วเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2511 มีพายุดีเปรสชั่นซึ่งอ่อนกำลังลงจากพายุโซนร้อน “มิน่า” ผ่านเข้ามาในบริเวณจังหวัดทำให้มีฝนตกหนักใน 24 ชั่วโมงวัดจำนวนได้ 125.6 มิลลิเมตร

ที่ตั้งของสถานีตรวจอากาศตรังและการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยา

สภาวะอากาศที่ได้จัดทำขึ้นนั้ได้มาจากผลการตรวจของสถานีตรวจอากาศตรัง ซึ่งได้ทำการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยาต่าง ๆ แล้วส่งรายงานผลการตรวจไปยังกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อรวบรวมและจัดทำข้อมูลในคาบ 30 ปี

สถานีตรวจอากาศหัวหินตั้งอยู่ที่ถนนรัษฎา ต.โคกหล่อ อ.เมือง จ.ตรัง ใกล้ท่าอากาศยานตรัง หรือที่ละติจูด 7 31 เหนือ ลองจิจูด 99 38 ตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 14 เมตร ทำการตรวจธาตุประกอบอุตุนิยมวิทยา วันละ 8 เวลา คือ 01.00, 04.00, 07.00, 10.00, 13.00, 16.00, 19.00 และ 22.00 น.