ภูมิอากาศจังหวัดยะลา

ขนาดและที่ตั้ง

ยะลาเป็นจังหวัดชายแดนที่อยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ที่ละติจูด 6 องศาเหนือ ลองจิจูด 101 องศาลิปดาตะวันออก มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 4,716 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถไฟประมาณ 1,039 กิโลเมตร และทางรถยนต์ประมาณ 1,440 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อบริเวณใกล้เคียงดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดสงขลาและปัตตานี

ทิศใต้ ติดต่อรัฐเปรัถ ประเทศมาเลเซีย

ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดนราธิวาส

ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดสงขลา และรัฐไทรบุรี ประเทศมาเลเซีย

ภูมิประเทศ

พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดยะลาเป็นภูเขาสลับซับซ้อนทั่วไปทุกอำเภอ ภูเขาที่สำคัญ คือภูเขาสันกาลาคีรีซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย มีที่ราบอยู่เพียงส่วนน้อย

ฤดูกาล

ฤดูกาลของจังหวัดยะลาพิจารณาตามลักษณะอากาศของประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ฤดูดังนี้

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุมจะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวทั่วไป เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดคือ เดือนพฤษภาคม แต่เป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้ทะเลจึงได้รับกระแสลมและไอน้ำทำให้อากาศกคลายความร้อนลงไปมาก

ฤดูฝน มีฤดูฝนแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยกับช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม เพราะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย จึงทำให้มีฝนตกมากอีกช่วงหนึ่ง โดยมีฤดูฝนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีลมเย็นและแห้งจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน แต่เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลอากาศจึงไม่หนาวเย็นเหมือนจังหวัดที่อยู่ทางตอนบนของประเทศ แต่กลับมีฝนตกชุกมากในฤดูหนาว โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม

ลักษณะอากาศทั่วไป

จังหวัดยะลาอยู่ภายใต้อิทธิพลของมรสุมที่พัดประจำเป็นฤดูกาล 2 ชนิด คือ ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาว จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นลมเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ภาคต่าง ๆ ทางตอนบนของประเทศตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไปมีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งทั่วไป แต่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปรวมถึงจังหวัดยะลากลับมีฝนตกชุกเพราะลมมรสุมนี้พัดผ่านอ่าวไทยจึงพาเอาไอน้ำไปตกเป็นฝนทั่วไป อากาศจึงไม่หนาวเย็นดังเช่นภาคอื่น ๆ ที่อยู่ตอนบนของประเทศ แต่อาจมีอากาศเย็นบ้างเป็นครั้งคราว ลมมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านมหาสมุทรอินเดียจึงพัดพาเอาไอน้ำและความชื้นมาสู่ประเทศไทย แต่เนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกกั้นกระแสลมไว้ ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกและจังหวัดยะลามีฝนตกน้อยกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลม

อุณหภูมิ

จังหวัดยะลาอยู่ใกล้ทะเล ฤดูร้อนมีอากาศไม่ร้อนมากนัก ส่วนฤดูหนาวไม่ถึงกับหนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.6 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวที่สุดคือเดือนพฤษภาคม เคยตรวจอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 37.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2515 เคยตรวจอุณหภูมิต่ำที่สุดได้ 17.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2516

ความชื้นสัมพัทธ์

ความชื้นสัมพัทธ์สัมพันธ์กับมวลอากาศและอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ เนื่องจากได้รับอิทธิพลของลมมรสุมเป็นสำคัญ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมทั้งสองฤดู คือมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มรสุมทั้งสองชนิดนี้ก่อนที่จะพัดเข้าสู่บริเวณจังหวัดได้พัดผ่านทะเลและมหาสมุทรจึงพาเอาไอน้ำและความชุ่มชื้นมาด้วยทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์สูง ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 80 % ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ย 95 % ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ย 62 % และเคยตรวจความชื้นสัมพัทธ์ต่ำที่สุดได้ 28 % ในเดือนมีนาคม

ฝน

ยะลาเป็นจังหวัดที่อยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกจัดว่าเป็นจังหวัดที่มีฝนตกตลอดปี ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกชุกกว่าฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เพราะอยู่ทางด้านตะวันออกไม่มีภูเขาสูงใดปิดกั้น จึงได้รับกระแสลมนี้เต็มที่ ทำให้มีฝนตกชุกในเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม โดยมีฝนสูงสุดอยู่ในเดือนพฤศจิกายน ส่วนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีฝนตกน้อยกว่าฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะภูมิประเทศมีแนวเทือกเขาตะนาวศรีปิดกั้น ทำให้ได้รับกระแสลมจากมรสุมนี้ไม่เต็มที่ ปริมาณฝนของจังหวัดอยู่ในเกณฑ์ดี ถ้าเทียบทั้งประเทศ แต่ถ้าเทียบภายในภาคเดียวกันมีฝนอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ฝนเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 1,800 – 2,000 มิลลิเมตร มีฝนตกประมาณ 100 – 150 วัน เดือนที่มีฝนตกมากที่สุด คือ เดือนพฤศจิกายน มีฝนเฉลี่ยประมาณ 432.1 มิลลิเมตร ฝนตกประมาณ 21 วัน ฝนสูงสุดใน 24 ชั่วโมงเคยวัดได้ 269.2 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2509

จำนวนเมฆ

ตลอดทั้งปีมีเมฆเฉลี่ยประมาณ 6 ส่วนของจำนวนเมฆ 8 ส่วนในท้องฟ้า ในฤดูร้อนมีเมฆเฉลี่ย 4 ส่วน ฤดูฝนมีเมฆเฉลี่ย 7 ส่วน ส่วนในฤดูหนาวมีเมฆเฉลี่ย 5 ส่วน

หมอก ฟ้าหลัว และทัศนวิสัย

โดยเฉลี่ยแล้วจังหวัดยะลาเกิดหมอกได้ประมาณเดือนละ 1 – 4 วัน ส่วนมากจะเกิดระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน วันที่เกิดหมอกทัศนวิสัยจะเลวเห็นได้ไกลไม่เกิน 1 กิโลเมตร ส่วนฟ้าหลัวเกิดมากระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ประมาณ 5 – 12 วัน วันที่มีฟ้าหลัวจะเห็นได้ไกลประมาณ 6 กิโลเมตร ทัศนวิสัยเฉลี่ยเวลา 07.00 น. ประมาณ 7 กิโลเมตร และเฉลี่ยตลอดวันประมาณ 9 กิโลเมตร

ลม

จังหวัดยะลามีลมพัดผ่านประจำตลอดปีดังนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนเป็นลมทิศตะวันออก ความเร็วลมเฉลี่ย 6 – 11 กม./ชม. เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมเป็นลมทิศตะวันตก ความเร็วเฉลี่ย 6 – 9 กม./ชม. กำลังลมสูงสุดที่เคยตรวจได้ดังนี้ ฤดูหนาวเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 56 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกในเดือนพฤศจิกายนและทิศตะวันออกในเดือนธันวาคมและมกราคม ฤดูร้อนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 65 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันออกค่อนไปทางใต้เล็กน้อยในเดือนมีนาคม ส่วนในฤดูฝนเคยตรวจลมสูงที่สุดได้ 74 กม./ชม. เป็นลมทิศตะวันตกในเดือนมิถุนายน

พายุหมุนเขตร้อน

พายุหมุนเตร้อนที่ทำความกระทบกระเทือนให้กับจังหวัดยะลาโดยตรงนั้นยังไม่เคยปรากฎ นอกจากได้รับความกระทบกระเทือนจากพายุดีเปรสชั่นที่พัดผ่านจังหวัดใกล้เคียงและทำให้จังหวัดยะลามีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงเป็นครั้งคราว บางครั้งทำให้เกิดน้ำท่วมได้ กำลังแรงของลมและคลื่นในทะเลจะทำอันตรายแก่เรือขนาดเล็กและอาคารบ้านเรือนทีอยู่ตามชายฝั่ง พาายุที่มีความรุนแรงและทำความกระทบกระเทือนให้แก่จังหวัดยะลาและภาคใต้เป็นบริเวณกว้างได้แก่พายุโซนร้อน “ฮาเรียต” ซึ่งก่อตัวในทะเลจีนใต้ใกล้ปลายแหลมญวน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2505 แล้วเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยพร้อมกับทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้เคลื่อนตัวผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2505 ลงสู่ทะเลอันดามัน พายุนี้ได้ทำความเสียหายเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 935 คน และบาดเจ็บ 445 คน ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 1,320 ล้านบาท นับเป็นความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศไทย